เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล (Winrock International) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ USDA Thailand Regional Agriculture Innovation Network (RAIN) ซึ่งเป็นเครือข่ายผลักดันนวัตกรรมด้านการเกษตรในระดับภูมิภาคที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากโครงการ Food for Progress ภายใต้การบริหารของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) มุ่งสร้างความร่วมมือตรวจสอบนวัตกรรมการเกษตรที่มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา และขยายผลส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ในวงกว้าง เพื่อรับมือกับผลกระทบที่มาจากวิกฤตสภาพอากาศ
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้มาร่วมงาน และคุณลิสา เอ.บูเจนนาส กงสุลใหญ่อเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกข้อตกลง โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคุณ วิลเลี่ยม สปาร์คส์ ผู้อำนวยการโครงการ RAIN เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในการตรวจสอบนวัตกรรมภาคเกษตรกรรมที่ช่วยให้รับมือกับผลกระทบวิกฤตสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ มีแนวทางของการสร้างความยั่งยืน และการขยายตลาด ตลอดจนขยายผลสนับสนุนให้เกษตรกรไทยใช้นวัตกรรมดังกล่าวในวงกว้าง RAIN จะใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เช่นการใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตลำไย ฟาร์มต้นแบบสวนลำไยอินทรีย์อัจฉริยะ การจัดการฟาร์มอย่างชาญฉลาด และการจัดการระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ ร่วมกันพัฒนาต่อยอดและขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายนวัตกรรมด้านการเกษตรทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ตัวอย่างความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างสองหน่วยงานภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ได้แก่ การสนับสนุนเกษตรกรให้นำแนวทางปฏิบัติด้านการผลิตแบบออร์แกนิกมาใช้ ผ่านระบบการรับประกันแบบมีส่วนร่วม (PGS) ระบบการรับรองอินทรีย์ เช่น ออร์แกนิกประเทศไทย, USDA ออร์แกนิก และอื่น ๆ รวมถึงทบทวนวิธีปฏิบัติของเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในภาคเหนือ และทั่วประเทศ นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสนับสนุน และผู้เชี่ยวชาญในการร่วมตรวจสอบนวัตกรรมและสนับสนุนการขยายผลในวงกว้าง ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค
รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างม.แม่โจ้และ RAIN จะช่วยยกระดับการเกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืน อาหาร อาชีพ และภูมิปัญญา ด้วยการยกระดับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรอินทรีย์ และทำให้เกษตรกรนำนวัตกรรมไปใช้งานได้จริงในวงกว้างอีกทั้งยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคเหนือ และสร้างเยาวชนเกษตรอินทรียเพื่อสนับสนุนให้พวกเขาอยู่กับชุมชนของตัวเอง”
นาย วิลเลี่ยม สปาร์คส์ ผู้อำนวยการโครงการ RAIN กล่าวว่า “การสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยน นวัตกรรมและความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรกรรมเป็นหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการทำงานของ RAIN ในปีที่ผ่านมาเราได้ริเริ่มความร่วมมือกับหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานวิจัยมากกว่า 11 แห่ง ซึ่งช่วยให้เราได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเครือข่ายของแต่ละหน่วยงาน คัดเลือก และสนับสนุน การใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรม การลงนามในบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นก้าวสำคัญสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมในการเพาะปลูก พืชเศรษฐกิจส่งเสริมที่มีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของประชากรในภาคเหนือเช่น ข้าว และลำไย รามถึงเกษตรกรในเครือข่ายของม.แม่โจ้ทั่วประเทศไทย เรามั่นใจต่อศักยภาพของความร่วมมือนี้จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีชื่อเสียงยาวนานในด้านองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยในด้านการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร”
โครงการ RAIN ดำเนินการโดยองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ที่คัดเลือก และตรวจสอบนวัตกรรมด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนการใช้งานในวงกว้าง ด้วยเป้าหมายส่งเสริมให้เกษตรกรไทย 30,000 ราย ใช้นวัตกรรมรวม 30 รายการ รับมือกับผลกระทบต่อวิกฤตสภาพอากาศ ผ่านการปรับปรุงผลผลิต ลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยาย ตลาดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใน พ.ศ. 2570
โครงการ RAIN ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ Food for Progress ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และมีเป้าหมายช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและประชาธิปไตยปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมให้ทันสมัยและแข็งแกร่งขึ้น โครงการ Food for Progress มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิผลของภาคเกษตรกรรม และขยายตลาดสินค้าเกษตร อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Food for Progress ได้ที่ https://www.fas.usda.gov/programs/food-progress.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน รายงาน