ชื่อสามัญ ดอกสามเดือน ดอกหกเดือน Hydrangea
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrangea macrophylla (Thunb.) Ser.
ชื่อวงศ์ HYDRANGEACEAE
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ ในต่างประเทศ พบที่ประเทศ ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออก ส่วนในประเทศไทย พบนำเข้ามาปลูกประดับทั่วไป
การกระจายพันธุ์ ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ทั่วโลก
สถานภาพ เป็นพืชต่างถิ่นกำเนิด นำเข้ามาปลูกประดับทั่วไป ไม่ควรนำต้นดอกไม้ชนิดนี้ไปปลูกประดับในป่าอนุรักษ์ทั้ง 2 ประเภท
ลักษณะประจำพันธ์ุ
ไม้ดอก อายุหลายปี พุ่มสูง 0.50-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง
ใบ รูปไข่ ปลายติ่งแหลม ขอบจักฟันเลื่อย เส้นใบเป็นร่องชัดเจน
ดอก ออกเป็นช่อกลมแน่นที่ปลายยอด ขนาดช่อดอก 15-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมี 2 ชนิด ดอกขนาดเล็กเป็นดอกสมบูรณ์ และดอกขนาดใหญ่เป็นหมัน ขนาดดอก 1.5-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว ชมพู แดง ม่วง และฟ้า
ผล สภาพที่เหมาะสมและการขยายพันธุ์
ต้นไฮเดรนเยีย ชอบแสงแดดรำไร ภูมิอากาศค่อนข้างเย็น ซึ่งส่งผลถึงสีของดอก ดินอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี ร่วนปนทราย และด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้สามารถควบคุมสีของดอกได้ด้วยแร่ธาตุในดินที่เสริมให้ เช่น การกำหนดค่าความเป็นกรดด่างของดินเพื่อให้สีดอกออกได้ตามชอบ หรือการให้ปุ๋ยก็กำหนดสีดอกได้เช่นกัน เช่น ถ้าต้องการดอกสีฟ้า ให้เติม อะลูมิเนียมซัลเฟตในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนจะให้ในปริมาณเท่าใดเป็นเทคนิคที่ปกปิด เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
การขยายพันธุ์ ปักชำกิ่งและการเพาะเมล็ด
บันทึกผู้เขียนและผู้ถ่าย
ผมพบดอกไฮเดรนเยีย ตั้งแต่ยุค กองอนุรักษ์ต้นน้ำส่งเสริมให้ปลูกประดับสำนักงานให้สวยงามตามดอยต่าง ๆ เช่น ห้วยน้ำดัง แม่โถ ดอยสามหมื่น แม่ตะมาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,500 เมตร อากาศยิ่งเย็นดอกยิ่งใหญ่และบานทนนานนับเดือน ต่อมาก็พบทั่วไปตามสวนดอกไม้ในเชียงใหม่ เชียงราย จนลงมาถึงสวนจตุจักร ก็ปลูกได้งดงามแต่ดอกมีขนาดเล็กและบานไม่ทนเท่าที่ควร
1.ปลูกประดับแบบลงแปลง เป็นที่นิยมในสวนดอกไม้ของรีสอร์ทและหน่วยราชการทางภาคเหนือ
2.ปลูกประดับแบบ ลงกระถาง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบ ใช้ประดับตามระเบียงหน้าบ้านหรือภายในห้องรับแขก
3.ปลูกเป็นไม้ตัดดอกทั้งขายสดและขายเป็นดอกแห้ง เพื่อปักแจกัน
ปล.พึงระวังพิษจาก ใบและลูกมีสารเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ /รายงาน