สกมช. จับมือ DGA ลงนาม MOU เสริมองค์ความรู้ ยกระดับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) โดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และยกระดับทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ e-learning รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนการดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง Confidential สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจหลักของ สกมช.คือการมุ่งมั่นลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีจำนวนครั้งที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านองค์ความรู้และทักษะ ทางดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบกับองค์กรต่าง ๆ อย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น สกมช. จึงเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานโดยบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการทำงานเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัย
ไซเบอร์ โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถป้องกันและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับทุกช่วงวัย ผ่านเครือข่ายของ สกมช. ในรูปแบบของการทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดโครงการดีๆ จาก สกมช. ได้ที่ Facebook NCSA Thailand

สุดท้ายนี้ สกมช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สพร. โดยหวังว่าความร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน จะนำพาไปสู่การเดินหน้ายกระดับทักษะและองค์ความรู้แก่ภาครัฐในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย”

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกล่าวว่า การรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงลึกของบุคลากรภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่คาดหวังว่าจะสามารถใช้บริการภาครัฐได้ตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลาราชการ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานราชการก็มีการปรับตัวสามารถให้ประชาชนหลากหลายช่องทางมากขึ้นทั้งแบบออนไลน์และให้บริการผ่านศูนย์บริการร่วมภาครัฐในวันเสาร์และอาทิตย์ การให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สถาบัน TDGA ได้ร่วมจัดฝึกอบรมหลักสูตรสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัย อาทิ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือ Chief Information Security Officer: CISO หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ หรือ Cyber war game  และหลักสูตรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ หลักสูตร CISO สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการผลักดันขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐด้านความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ ผ่านการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย

นอกจากนี้ สถาบัน TDGA มีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และหลักสูตรด้านดิจิทัลอื่น ๆ ร่วมกับ สกมช. เพื่อการยกระดับทักษะด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล Digital Literacy ไปสู่ Cyber Security Literacy ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหลักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าวผ่านระบบ Digital Government Learning Platform ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านสื่อ e-Learning ที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการหลักสูตรด้านดิจิทัลแบบออนไลน์ ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ตลอดจนประชาชนที่ ต้องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางการเรียนรู้นี้เพื่อการยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่กลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้เข้าอบรมหลักสูตร e-Learning และได้รับใบประกาศนียบัตรดิจิทัลจากสถาบัน TDGA รวมแล้วมากกว่า 1.9 ล้านครั้ง สำหรับผู้ที่ต้องการ Upskill และ Reskill สามารถเข้าเรียนหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลตามความสนใจได้ที่เว็บไซต์ tdga.dga.or.th

เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency : NCSA

สกมช. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ระเบียบ มาตรการ มาตรฐานขั้นต่ำ แนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยประสานงาน เฝ้าระวัง รับมือและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อมีเหตุภัยคุกคามเกิดขึ้น อย่างมีนัยสำคัญให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศดำเนินการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : NCSA Thailand

เกี่ยวกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA

DGA เป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘DGA เป็นกลไก สนับสนุน เชื่อมโยงการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล (Enabling Agile Government)’ สามารถอัปเดตข้อมูลข่าวสารรัฐบาลดิจิทัลได้ที่ Facebook: DGA Thailand