โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์
การลักลอบนำเข้าปูดำเถื่อนจากเมียนมาเกิดขึ้นอีกแล้วที่ จ.ระนอง เหมือนกับหลายๆครั้งที่ไทยต้องพบเจอปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น ตอกย้ำว่านี่เป็นปัญหาเรื้อรังคาราคาซังมานาน และไม่มีการขยับจัดการอย่างเข้มข้นจริงจัง กลายเป็นช่องโหว่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่น (มีชีวิต) แทรกตัวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไม่ยากเย็น บางกรณีที่เกิดแพร่ระบาดจนกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงจะตื่นตัวตามหาคนแอบนำเข้า ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เคยตามหาพบเลยแม้แต่กรณีเดียว
ประเด็นหลักน่าจะเป็นเรื่องของความอ่อนด้อยของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันเหมือน “หมูเถื่อน” ที่เมื่อมีการลักลอบนำเข้าอย่างหนัก จนกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เป็นเหตุให้ภาครัฐเดินหน้าตรวจสอบจริงจังจนจับหมูเถื่อนได้หลายล้านกิโลกรัมแม้จะตามหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมการลักลอบนำเข้ามากขึ้น
นักการเมืองรายหนึ่งกล่าวถึงการทำงานของภาครัฐในการตรวจสอบการลักลอบนำเข้า “ปลาเถื่อน” ว่าไม่มีระบบหรือวิธีตรวจสอบที่รัดกุม กระทำได้เพียงการสุ่มตรวจ ณ ด่านสุวรรณภูมิ ด้วยการยกถุงขึ้นมาดู และใช้ประสบการณ์พิจารณาเอาว่าปลาในถุงคือปลาอะไร ไม่มีเครื่องตรวจนับหรือตรวจสอบอะไรทั้งนั้น และวิธีการเหล่านี้เองจะทำให้ปลาต่างถิ่นเล็ดลอดเข้ามาประเทศไทยได้ทุกวัน
วิธีการที่มักจะใช้ในการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำก็เช่นการขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดหนึ่งบังหน้า แต่ลักลอบใส่ปลาที่ต้องการอีกชนิดหนึ่งปะปนเข้ามาในถุงเดียวกันหรือจะเรียกว่าสำแดงเท็จก็ได้ หรืออีกลักษณะหนึ่งคือการนำปลามีชีวิตแอบใส่กระเป๋าเดินทางแบบนักท่องเที่ยวทั่วไปถือขึ้นเครื่องเข้ามา ส่วนใหญ่ก็เพื่อจุดประสงค์ในการเลี้ยงส่วนตัว และเพาะพันธุ์ขาย ไม่ว่าจะในรูปแบบปลาสวยงาม ปลาแปลก หรือถ้าเพื่อการอื่นก็เป็นไปเพราะไม่ต้องการขออนุญาตให้ยุ่งยากนั่นเอง
นอกเหนือจากด่านท่าอากาศยานแล้ว ยังมีช่องทางที่ปลาเถื่อนสามารถแทรกเข้ามาในประเทศไทยได้อีกหลายช่องทาง เช่น ทางบกหรือทางด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทุกทิศทางรวมถึงทางเรือ แต่ทั้งหมดก็มี “มนุษย์” นี่ล่ะเป็นคนแอบนำเข้ามา และเมื่อเข้ามาแล้วหากปลาดังกล่าวเหมาะสมเป็น ปลาเหยื่อ ก็เป็นมนุษย์อีกเช่นกันที่ช่วยกันแพร่กระจาย นำมันไปใช้เป็นเหยื่อล่อปลาชนิดอื่นในแหล่งน้ำต่าง ๆ
ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอคางดำ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปลาที่ยังไม่สามารถหาผู้ลักลอบนำเข้าได้ ซึ่งขณะนี้แพร่กระจายอยู่ในหลายแหล่งน้ำธรรมชาติ แม้กระแสของปลาหมอคางดำ จะช่วยให้เกิดการตื่นตัว มีการติดตามตรวจสอบและชี้เบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำมากขึ้น หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น หรือไม่มีการยกระดับบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น ก็คงน่าเสียดาย
ข้อมูลของกรมประมงระบุว่ากรมมีมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย โดยจัดชุดเฉพาะกิจของกรมประมงลงพื้นที่ร่วมปฏิบัติการกับชุดพญานาคราชของกระทรวงเกษตรฯ และประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีจังหวัดติดด่านชายแดนเพื่อร่วมกันตรวจสอบแนวชายแดนและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงประกาศกรมประมง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องสามารถตรวจสอบและยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ขอนำเข้าได้ ปริมาณนำเข้าจริงต้องตรงตามเอกสารการขอนำเข้า รวมถึงปรับปรุงมาตรการควบคุมการนำเข้าตามชายแดนด้วย
เจ้าหน้าที่กรมประมงรายหนึ่งให้ความเห็นว่าการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำลดลงไปมากแล้ว จากการจัดระบบราชการ กฎหมาย และการบริหารความเสี่ยง เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกันมากขึ้น มีการแบ่งหน้าที่กัน ขณะที่สัตว์บางชนิดเช่น กุ้งเครย์ฟิช ที่เคยยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมาก็มีการลักลอบลดลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัวไม่มีความต้องการซื้อ
กระแสปลาหมอคางดำ ช่วยจุดประเด็นเรื่องการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำได้แล้ว ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะยกระดับการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นให้เห็นเป็นรูปธรรม ผนึกกำลังกับหน่วยงานรัฐด้วยกัน แล้วเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ อย่างถึงลูกถึงคน คล้ายๆ การจัดการ “หมูเถื่อน” ก็น่าจะเป็นอีกวิธีที่จะทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า “ปลาเถื่อน” จะไม่สามารถเข้ามาอาละวาดในประเทศไทยได้ง่าย ๆ เช่นในอดีตที่ผ่านมา./