สกสว. ขานรับนโยบายกระทรวง อว. ร่วมขับเคลื่อนประเทศ เสริมศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ หนุนงานวิจัย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ.2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี มุ่งสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งทางวิชาการ พัฒนาทักษะนักวิจัยรุ่นใหม่ ต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรากฐานเข้มแข็งให้ประเทศชาติ สอดรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมฐานนวัตกรรม หลายภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องอาศัยนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต การวิจัยจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความก้าวหน้า ดังนั้นกระทรวง อว. จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนากำลังคนทักษะสูงโดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) รวมถึงด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่ยั่งยืน

“กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ได้เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด ‘บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ’ เพื่อมุ่งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการเสริมศักยภาพบุคลากรยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้นในการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดขึ้นในครั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ร่วมงานทุกท่านมาร่วมกันขับเคลื่อนตามแนวทางการประชุม คือ ‘จุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่เครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตชาติ’ เพื่อช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว. ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( กสว.)โดยร่วมกันสร้าง “ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม” ที่เข้มแข็ง เน้นการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ไปพร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่กับนักวิจัยอาวุโส

“ในการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ.2567 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร บุคลากรในระบบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และเหล่านักวิจัย เข้าร่วมมากกว่า 1,100 คน จาก 190 หน่วยงาน มีจุดประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1. สร้างระบบเครือข่ายนักวิจัยที่อยู่ในระบบวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ได้มาทำงานร่วมกัน 2. ให้นักวิจัยในระบบดังกล่าวได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานวิจัย และนวัตกรรมของตน เพื่อการต่อยอดหรือสร้างมุมมองใหม่ต่อไป และ 3. เพื่อก่อเกิดกระบวนการทำงานร่วมกันของนักวิจัยในแบบใหม่ในลักษณะไร้รอยต่อ กล่าวคือ นักวิจัยที่มาจากหลากหลายภาคส่วนสามารถผสมผสานงานวิจัยระหว่างกันจนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ให้การทำงานต่อประเทศอย่างรวดเร็ว”

ศ. ดร.สมปอง กล่าวต่อว่า คาดว่าภายหลังจากการประชุมครั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดคือ การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโส เกิดเครือข่ายนักวิจัยที่มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ เช่น การขจัดปัญหา PM 2.5 การขจัดปัญหาสุขภาพ อาทิ ขจัดโรคใบไม้ในตับ หรือ การใช้ AI ช่วยในงานสาธารณสุข และการเปิดช่องทางให้นักวิจัยรุ่นใหม่มีโอกาสพัฒนาตนเองไปสู่นักวิจัยงานระดับประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุน เวลา สถานที่ และนโยบาย

“ระบบวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม จัดได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างอาชีพใหม่ โดยการผลิตบุคลากรที่อยู่ในระบบนี้จะมีทักษะในการประกอบอาชีพและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ กระทรวง อว. ได้แก่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูง เป็นการสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าว ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก สร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน” ศ.ดร.สมปอง กล่าวสรุป