รู้กันหรือยัง!เดือนมิถุนายน2568กทม.ปรับราคาค่าเก็บขยะรายเดือนอัตราใหม่จ้า

กรุงเทพมหานคร แนะเจ้าหน้าที่เขตฯ เตรียมพร้อมก่อนจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่ ชวนประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ช่วยลดค่าธรรมเนียมฯ ตามปริมาณขยะที่คัดแยก

26 พ.ย. 67/ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. … ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

“ปัจจุบันร่างข้อบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน คาดว่ากลางปีหน้าประมาณเดือนมิถุนายน 2568 จะเริ่มใช้ข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ควรศึกษาทำความเข้าใจในข้อบัญญัติฯ ฉบับใหม่ สามารถตอบคำถามประชาชนถึงข้อแตกต่างในอัตราการจัดเก็บขยะที่คัดแยกและไม่คัดแยกได้ ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนกับกรุงเทพมหานครในการคัดแยกขยะตามชุมชนบ้านพักอาศัย ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่อค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บขยะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว

ในที่ประชุมได้ซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติร่วมกับคณะผู้บริหารเขตและผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความถูกต้องในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 โดยข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน

สำหรับข้อบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เมื่อประชาชนมีการคัดแยกขยะแล้ว อัตราค่าธรรมเนียมฯ ที่จัดเก็บจะลดลงตามปริมาณขยะที่ลดลงจากการคัดแยก เช่น กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากมีการคัดแยกขยะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 20 บาทต่อเดือน หากไม่มีการคัดแยกขยะ จะจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 60 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีการคัดแยกขยะ จะส่งผลให้ปริมาณขยะที่จัดเก็บลดลง อัตราค่าธรรมเนียมฯ ในการจัดเก็บขยะก็จะลดลงตามไปด้วย

สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้หลายช่องทาง เช่น ลงทะเบียนทาง Smart Phone ผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY หรือเข้ามาติดต่อที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนในระบบให้ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ รวมถึงการแนบภาพประกอบการคัดแยกขยะ ได้แก่ ภาพขยะอินทรีย์ ภาพขยะรีไซเคิล ภาพขยะทั่วไป ภาพที่ตั้งวางถังขยะ ซึ่งในอนาคตกรุงเทพมหานครจะเพิ่มช่องทางการลงทะเบียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่เขตฯ ลงทะเบียนให้ถึงหน้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม จ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท) กรณีคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)

กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร) และ

กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาท (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)

ในการนี้มี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยกรุงเทพมหานคร กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตลาดกระบัง เขตคันนายาว เขตคลองสามวา เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตสะพานสูง เขตมีนบุรี เขตประเวศ และเขตหนองจอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน