เขย่าเขตบางกอกน้อยตรวจฝุ่นจิ๋วจัดระเบียบแผงค้าพร้อมเนรมิตสวน15นาทีให้ครบ10แห่ง

กทม.ตรวจเขตบางกอกน้อย ลุยส่องฝุ่นจิ๋วโครงการโซออริจิ้นศิริราช ขยับแผงค้าอุดแนวฟันหลอตลาดบางขุนนนท์ ชมคัดแยกขยะชุมชนวัดไชยทิศ พิจารณาความเหมาะสมก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองขุนอิน คลองชักพระ พร้อมปั้นสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง

 

29 พ.ย.67/นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโซออริจิ้นศิริราช (SO Origin Siriraj) ถนนพรานนก ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยความสูง 19 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 2 แห่ง ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดบางขุนนนท์ ผู้ค้า 172 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-22.00 น. ซึ่งจากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 2 พ.ค.67 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบผู้ค้าที่ตั้งวางแผงค้าอยู่กระจัดกระจายให้ขยับเข้ามาชิดกัน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างหรือแนวฟันหลอในช่วงที่ทำการค้า นอกจากนี้เขตฯ ได้แบ่งกลุ่มผู้ค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำการค้าในช่วงเช้า และกลุ่มที่ทำการค้าในช่วงบ่าย

พร้อมกันนี้ให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 2567 กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า กวดขันร้านค้าที่อยู่ในอาคารไม่ให้ตั้งวางสิ่งของเกินขอบเขตออกมานอกอาคาร รวมถึงจัดเก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 376 ราย ได้แก่

1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย

2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย

3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย

4.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ

5.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 181 ราย และหน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 30 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 โดยผู้ค้าบางส่วนได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดพรานนกและตลาดบางกอกน้อย

ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 126 ราย ได้แก่

1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย

2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย

3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย

4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย

5.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย

6.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย

7.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย

8.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย

9.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย

10.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย

11.ปากซอยแสงศึกษา หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย

12.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย

13.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 และ 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนวัดไชยทิศ พื้นที่ 19,200 ตารางเมตร ประชากร 1,625 คน บ้านเรือน 236 หลังคาเรือน จำนวน 415 ครอบครัว เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้

1.ขยะอินทรีย์ มีเศษอาหารจำนวนน้อย เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะทำงานประจำรับประทานอาหารมาจากข้างนอก จะมีผู้สูงอายุกับเด็กที่รับประทานอาหารที่บ้าน

2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนในชุมชนร่วมกัน คัดแยกขยะออกเป็น ขยะพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว กระดาษ นำขยะรีไซเคิลที่ได้จากการคัดแยกมาขาย เพื่อเป็นรายได้ในการบริหารของชุมชน และครอบครัวที่ทำการคัดแยก

3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บขยะมูลฝอยทั่วไป ช่วงเวลา 17.00-18.00 น. วันเว้นวัน

4.ขยะอันตราย ชุมชนคัดแยกขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 800 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 20-30 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 15-20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/เดือน

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางชุมชนในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) ตั้งแต่คลองขุนอิน คลองชักพระ ถึงถนนเอราวัณปาร์ค เขตบางกอกน้อย ความยาว 500 เมตร อย่างไรก็ตามจากการประกวดราคา E-bidding ครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นราคา 1 ราย จึงดำเนินการยกเลิก ส่วนครั้งที่ 2 ไม่มีผู้ยื่นราคา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งสภาพคลองในแต่ละช่วงมีความกว้างไม่เท่ากัน บางช่วงมีความกว้าง 4 เมตร บางช่วงมีความกว้าง 13 เมตร หากจะก่อสร้างต้องแก้ไขแบบให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด หากไม่ก่อสร้างให้ดำเนินการยกเลิกโครงการดังกล่าว

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดทำสวน 15 นาที ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1.สวนหย่อมอัศวิน 70 ตารางวา

2.สวนหย่อมจักรวาล พื้นที่ 33 ตารางวา

3.สวนหย่อมปากซอยรุ่งประชา พื้นที่ 1 งาน 27 ตารางวา และ

4.สวนหย่อมสายใต้เก่า พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา

สวนสาธารณะในพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

1.สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา พื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา

2.สวนสิรินธราพฤกษา พื้นที่ 3 ไร่ 16 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1.)สวนอรุณอมรินทร์ พื้นที่ 23.5 ตารางวา

2.)สวนยูเทิร์นเพลินใจ บริเวณทางกลับรถใต้สะพานข้างคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 พื้นที่ 22 ตารางวา

3.)สวนวัดรวกสุทธาราม พื้นที่ 147 ตารางวา

4.)สวนวัดชิโนรสารามวรวิหาร พื้นที่ 60 ตารางวา

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างโดยพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

ในการนี้มี นายวรชล ถาวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน