วธ. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 7 ธันวาคม พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมร่วมกับองค์การทางศาสนา ๕ ศาสนาและเครือข่าย ส่งกำลังใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
6ธ.ค.2567/ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทั้งทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทั้งนี้ มีพระปณิธานในการสืบสานและต่อยอดกิจการที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาราษฎร์ตามรอยพระราชบิดา ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณกุศล ผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินกิจการตามพระดำริในการให้โอกาส ตลอดจนปฏิบัติพระกรณียกิจด้านศาสนา เพื่อส่งเสริมบำรุงให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
ยกตัวอย่าง เสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เสด็จแทนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญสังฆทานพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ทรงสวมฮิญาบ เสด็จไปพระราชทานสิ่งของและทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยชายแดนใต้ ยังความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าแม้ต่าง ทำให้ประชาชนที่มีความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 7 ธันวาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค จะได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยการร่วมกันทำความดีถวายพระกุศล และน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นเครื่องมือในการสร้างสติ สมาธิ และปัญญา แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ ด้วยการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน
ที่สำคัญ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา และประชาชน อันจะก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นอย่างยั่งยืน โดยในส่วนกลาง กรมการศาสนาร่วมกับวัดชนะสงคราม จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เทพนพเคราะห์ถวายพระกุศล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 7 ธันวาคม ในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมี พระราชวัชรกิจจากรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ประธานฝ่ายสงฆ์ และ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุกกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตราย และทำให้เกิดความสุขสวัสดีซึ่งตามโบราณประเพณี เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะได้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำความสะอาดศาสนสถาน เพื่อถวายพระกุศลฯ
นอกจากนี้ ยังมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เพื่อเป็นการสวดสืบชะตา ในการทำบุญสืบอายุ และขอให้หายจากโรคภัย มีความสุขภาพร่างกายแข็งแรง ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 7 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ในส่วนภูมิภาคร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระกุศล กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การจัดนิทรรศการหรือจัดทำวีดิทัศน์ เฉลิมพระเกียรติฯ และกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในมิติทางศาสนา ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ขออานิสงส์ผลบุญแห่งกิจกรรมกุศลมงคลทั้งปวงที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายพระกุศลในครั้งนี้ ดลบันดาลให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา หายจากพระประชวรอย่างเร็วพลัน มีพระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย
ในการนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และกรมการศาสนา ร่วมกับองค์การทางศาสนา ๕ ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์ รวมถึงหน่วยงานเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้นำทางศาสนาและศาสนิกชนในพื้นที่ ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อศาสนสถาน ชุมชนคุณธรรม เครือข่ายทางวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม บุคลากร และอาคารสถานที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จำนวน ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา มีศาสนสถาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 72 แห่ง, ชุมชนคุณธรรมฯ /ชุมชนยลวิถี ได้รับผลกระทบ จำนวน ๒ แห่ง, เครือข่ายทางวัฒนธรรม ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 เครือข่าย, แหล่งเรียนรู้/โบราณสถาน จำนวน 1 แห่ง, อาคาร/สำนักงาน ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับผลกระทบ จำนวน ๑ แห่ง
จังหวัดปัตตานี มีศาสนสถาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 42 แห่ง, อาคาร สำนักงาน สิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานราชการ ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 2 แห่ง จังหวัดยะลา มีศาสนสถาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 53 แห่ง และจังหวัดนราธิวาส มีศาสนสถาน/ศาลเจ้าแม่ ได้รับผลกระทบ จำนวน 17 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗) โดยได้นำเครื่องสมณบริขาร เครื่องอุปโภค บริโภค มอบให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในศาสนสถาน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ มี ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้แทนรับมอบซึ่งมีเครื่องอุปโภค บริโภค ที่จะนำไปมอบ ได้แก่ 1. เครื่องสมณบริขาร จำนวน ๕๐ ชุด 2. น้ำดื่ม จำนวน ๒๗๗ แพ็ค ๓. ข้าวพร้อมทาน จำนวน ๑,๖๘๐ กระป๋อง ๔. ข้าวสาร ถุงละ ๕ กิโลกรัม จำนวน ๕๐๐ ถุง ๕. ข้าวสาร ถุงละ ๒ กิโลกรัม จำนวน ๒๑ ถุง ๖. ข้าวสาร ถุงละ ๑ กิโลกรัม จำนวน ๑๕๖ ถุง ๗. ชุดชั้นในชาย จำนวน ๔๐ แพ็คใหญ่ ๘. น้ำปลา จำนวน ๑๒๘ ขวด
๙. ปลากระป๋อง จำนวน ๔๑๙ กระป๋อง ๑๐. นมกล่อง จำนวน ๓๙๐ กล่อง ในการนำเครื่องสมณบริขารไปถวายให้แก่พระภิกษุ สามเณร และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่ ผู้นำศาสนา และศาสนิกชนผู้ประสบภัยในครั้งนี้ รวมถึงบูรณะฟื้นฟูในศาสนสถาน อิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์การทางศาสนา และองค์กรเครือข่าย เป็นการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในชาติ
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน