ณพลเดช “จ่อดัน”ภาษีบุหรี่เหล้าหนุนกีฬากอล์ฟ เผยนักกอล์ฟไทยบินว่อน ตปท.เพราะเงินรางวัลในไทยน้อยเกิน

17 ธ.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ประเทศไต้หวัน ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่…พ.ศ… สภาผู้แทนราษฏร ได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า ได้มีโอกาสพบกับนักกอล์ฟอาชีพหญิงระดับ LPGA เกือบ 30 คนที่ไต้หวันครับ ซึ่งทำให้ผมเห็นถึงความเป็นจริงของอาชีพนี้อย่างชัดเจน

น้องๆ นักกอล์ฟมืออาชีพ ที่มาไต้หวันเพื่อแข่งขันและหารายได้จากอาชีพของพวกเขา ทางเดียวที่จะทำให้น้องๆ ดำรงอยู่ได้คือการทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด หากมองความท้าทายของไทยเมื่อมองย้อนกลับไป รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่สำหรับนักกีฬากอล์ฟความแน่นอนของรายได้นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้ความเสี่ยงจากการทำอาชีพที่ไม่แน่นอน เงินรางวัลจากการแข่งขัน LPGA ในไทยน้อยนิดหากเทียบกับไต้หวัน ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่ดีกว่า

ผมมีแนวทางการสนับสนุนกีฬากอล์ฟในประเทศไทยดังนี้
  1. สร้าง Soft Power ดันธุรกิจกอล์ฟไทย

2.การสร้างแบรนด์นักกอล์ฟไทย

  1. สนับสนุนงบประมาณและรางวัลการแข่งขันกอล์ฟในไทย
  2. ใช้ภาษีจากสุรายาเสพติดและอบายมุขเข้ามาสนับสนุนกีฬาโดยตรง
  3. พัฒนานักเรียงช่างกล เพื่อพัฒนาอุปกรณ์กอล์ฟ
  4. สนับสนุน นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการ และนักจิตวิทยา

มีคำพูดหนึ่งที่ต้องสะดุดครับ “นักกอล์ฟไทย ฝีมือดีมีมาก แต่ขาดโอกาส” หลายคนต้องเลิกอาชีพกอล์ฟ เพราะต้องรับผิดชอบครอบครัว ไม่สามารถเอาความเสี่ยงมาแลกได้ จริงๆ แล้วผมมองว่าศักยภาพของประเทศไทยในกีฬากอล์ฟสู่การสร้าง Soft Power นั้น จากการที่บ้านเราเป็นเมืองร้อนที่เหมาะสำหรับการเติบโตของต้นไม้ใบหญ้าเป็นผลดีต่อสนามกอล์ฟ ซึ่งหลายสนามในไทยมีความสวยงามดีกว่าต่างประเทศ นักกอล์ฟต่างชาติหลายคนมุ่งตรงมาเมืองไทยเพื่อเล่นกอล์ฟ นี่คือ Soft Power ที่ไทยสามารถสร้างได้ด้วยธรรมชาติที่มีแม่น้ำ ทะเล และภูเขา ในยุคดิจิทัลที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะเป็นเครื่องมือในการสร้าง Soft Power ได้ การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟ การแชร์ประสบการณ์ของนักกอล์ฟ และการโปรโมตกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกอล์ฟผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จะช่วยเพิ่มความสนใจในกีฬากอล์ฟของไทยครับ

การสร้างแบรนด์ของนักกอล์ฟไทยนั้น จะช่วยดึงดูดสปอนเซอร์และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ การมีนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียง (ซึ่งขณะนี้มีฝีมืออยู่แล้ว) จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับการแข่งขันและดึงดูดผู้ชมและนักท่องเที่ยว การส่งเสริมภาพลักษณ์ของนักกอล์ฟไทยในระดับสากล จะช่วยสร้างโอกาสในการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น น้อง “จีโน่” สร้างความโด่งดังให้กับเมืองไทยด้วยกีฬากอล์ฟในการคว้าแชมป์ในระดับโลก การสนับสนุนจากนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงการมีนักกอล์ฟไทยที่ประสบความสำเร็จในเวทีโลกจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟรุ่นใหม่ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของกีฬากอล์ฟในประเทศไทย นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงสามารถทำหน้าที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ในการส่งเสริมกีฬากอล์ฟและสร้างความสนใจในประเทศไทยได้ครับ

ทั้งนี้การสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาทักษะของนักกอล์ฟไทยเป็นสิ่งสำคัญ การมีหลักสูตรการฝึกสอนที่มีคุณภาพและการสนับสนุนด้านการศึกษา จะช่วยสร้างนักกอล์ฟที่มีความสามารถและพร้อมที่จะแข่งขันในระดับโลก การส่งเสริมวัฒนธรรมการเล่นกอล์ฟสามารถทำได้โดยการจัดกิจกรรมและการแข่งขันที่มีความหลากหลาย เช่น การแข่งขันกอล์ฟสำหรับเยาวชน การจัดค่ายฝึกอบรมสำหรับนักกอล์ฟมือใหม่ และการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเทคนิคการเล่นกอล์ฟ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้

การสนับสนุนงบประมาณนั้น หากสนับสนุนงบประมาณและรางวัลการแข่งขันกอล์ฟในไทยสามารถดึงดูดนักกอล์ฟทั่วโลก หากเราสามารถเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้น จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในไทยและการออกอากาศผ่านสื่อโซเชียล ในปัจจุบัน เงินรางวัลเฉลี่ยต่อแมตช์เพลย์ของ LPGA ในไทยเฉลี่ยเพียง 1.5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเพิ่มเงินรางวัลให้สูงขึ้น จะช่วยให้การแข่งขันมีแรงดึงดูดมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักกีฬาหลายคนมีสปอนเซอร์เช่น สิงห์ และ ช้าง ฯลฯ ที่ช่วยสนับสนุน แต่เงินสนับสนุนที่ได้รับยังไม่เพียงพอ การใช้ชีวิตในต่างประเทศจึงมีข้อจำกัด หากนักกอล์ฟชนะและได้รับเงินรางวัล ก็จะถือว่าคุ้มค่า แต่ถ้าหากเล่นไม่ดีในรอบนั้น อาจจะต้องขาดทุน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนต้องเลิกทำอาชีพนี้และหันไปทำงานอย่างอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการใช้ภาษีจากสุรายาเสพติดและอบายมุข เข้ามาสนับสนุนกีฬากอล์ฟโดยตรงเป็นแนวทางที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนากีฬาของประเทศเรา ในปัจจุบันเรามีกองทุนต่างๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีเหล่านี้ แต่บ่อยครั้งที่เงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ไม่ตรงจุดหรือไม่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างที่ควรจะเป็น การนำเงินภาษีจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักกอล์ฟไทยและผลักดันให้กีฬากอล์ฟเติบโตในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่กีฬากอล์ฟกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตามผมจะเสนอต่อกรรมาธิการเพื่อบัญญัติกฎหมาย นำภาษีเหล่านี้มาสนับสนุนด้านการกีฬาต่อไป

ผมมองว่าการพัฒนาอุปกรณ์กอล์ฟในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้ โดยหลายประเทศได้ประสบความสำเร็จจากการผลิตอุปกรณ์กอล์ฟคุณภาพ เช่น ไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ ซึ่งมีการออกแบบและเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านนี้ผ่านโรงเรียนช่างกล อาจสามารถสร้างนักออกแบบและช่างผู้มีความสามารถในการผลิตไม้กอล์ฟที่มีคุณภาพสูงได้ การนำเทคโนโลยีการตัด เชื่อม และกลึงเหล็กมาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและทำให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้

นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตอุปกรณ์กอล์ฟ จะช่วยให้การพัฒนามีความเป็นจริงมากขึ้น โดยการร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การส่งเสริมการวิจัยในด้านวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น น้ำหนักเบาและความแข็งแรงสูงได้ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับช่างและนักออกแบบจะช่วยให้พวกเขามีความรู้ที่จำเป็นในการผลิตอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การสร้างแบรนด์และการตลาดที่มีประสิทธิภาพจะช่วยดึงดูดความสนใจจากนักกอล์ฟทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตอุปกรณ์กอล์ฟระดับโลกได้ในอนาคตได้ครับ

อีกมิติที่ผมมองว่าการสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากนักกีฬาต้องการการดูแลที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถแสดงศักยภาพสูงสุดได้ การดูแลเหล่านี้รวมถึงการนวดและการฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนวดไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก หากพิจารณาการนวดแบบปกติที่วัดโพธิ์ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300-500 บาท/ชม. แต่หากเป็นการนวดเพื่อรักษาและฟื้นฟูนักกีฬา อาจมีมูลค่าที่สูงขึ้นถึง 1,500-2,000 บาท/ชม.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนักกีฬาต้องการการดูแลที่เฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับนักกีฬาเป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีพลังงานและความแข็งแรงในการฝึกซ้อมและแข่งขัน นอกจากนี้การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากนักกีฬาต้องพบกับความกดดันและความเครียดในระหว่างการแข่งขัน การสนับสนุนในด้านนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างสมาธิให้กับนักกีฬา การพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับนักกีฬาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ยังสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับคนไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมในระยะยาว

สุดท้ายการพัฒนานักกอล์ฟไทยสู่ระดับโลกนั้นยังมีความท้าทาย สู่การสร้าง Soft Power มากมาย ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน การสร้างแบรนด์ของนักกอล์ฟไทยจะช่วยดึงดูดสปอนเซอร์และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ การพัฒนาทักษะของนักกอล์ฟไทยเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศเราและนักกีฬาเรามีศักยภาพมากสู่การเป็นกีฬากอล์ฟในระดับโลกอยู่แล้ว หากมีการสนับสนุนที่เหมาะสม เราสามารถสร้างนักกอล์ฟไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกได้ การลงทุนในกีฬากอล์ฟจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนไทยครับ

https://www.facebook.com/share/p/19d4ktyFRA/?mibextid=wwX