กทม.ขับเคลื่อนโครงการวิจัยและพัฒนาระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษผู้เรียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อออกแบบตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ STEAM Education และ Unplugged Coding คาดหวังพัฒนาเด็กตามความสามารถและความฝันเฉพาะตัว
17 ธ.ค. 67/ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษา โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษผู้เรียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อออกแบบตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ STEAM Education และ Unplugged Coding โดยทีมวิทยากรจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า การศึกษาในรั้วโรงเรียนบางครั้งก็อาจจะเป็นตัวปิดกั้นความสามารถพิเศษ หรือความชื่นชอบตามความฝันของเด็กๆ เสมือนเป็นไม้บรรทัดวัดไม่กี่แบบตามวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนสอน แต่หัวใจสำคัญคือการมองเด็กเป็นรายบุคคล สนับสนุนความสามารถที่มีอยู่ และสร้างแผนที่ความฝันของเด็กให้เป็นความจริง ด้วยวิธีการ STEAM Education ในการพัฒนากระบวนการคิด ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน (Unplugged Coding)
เพื่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ด้วยการให้โจทย์กับเด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อฝึกฝนทักษะเด่นของแต่ละบุคคลช่วยกันสร้างโปรเจกต์ตามที่ชอบ ซึ่งการมีไม้นำทางที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนความสามารถพิเศษของเด็ก ตลอดจนการสร้างเครื่องมือให้เด็กนำไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์
โครงการนี้เป็นโครงการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการบริหารเมืองรูปแบบอารยะสำหรับทุกคน มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 พัฒนาผู้เรียนตามอัตลักษณ์แห่งมหานคร ผู้เรียนมีทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรม กลยุทธ์ส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ Coding และการสร้างสรรค์ชิ้นงาน โครงงาน และนวัตกรรม
ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายของโครงการ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้ครูผู้สอนนำสารสนเทศที่ได้จากระบบสำรวจแววไปใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ STEAM Education และ Unplugged Coding เพื่อส่งเสริมพหุปัญญาและความสามารถพิเศษแต่ละด้านของนักเรียน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 431 คน หัวหน้าฝ่ายการศึกษาและนักวิชาการศึกษา จำนวน 75 คน รวมทั้งสิ้น 506 คน
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน