น้ำท่วมหนักภาคใต้กระทบสวนยางเปิดกรีดกว่า 5.5 ล้านไร่คาดผลผลิตยางขาดตลาด1.4แสนตัน

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักทั่วภาคใต้ กระทบพื้นที่สวนยางเปิดกรีด 11 จังหวัด กว่า 5.5 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิตยางธันวาคม 2567 หายจากระบบตลาดถึง 1.4 แสนตัน ส่งเจ้าหน้าที่เร่งบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ก่อนสำรวจความเสียหายและเยียวยาหลังน้ำลด

17ธ.ค.67/ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่หลายอำเภอ ครอบคลุมทั่ว 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา ซึ่ง กยท. โดยกองวิจัยเศรษฐกิจยาง ฝ่ายเศรษฐกิจยางได้วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีฝนตกจากเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยามาอ้างอิง

พบกลุ่มฝนฟ้าคะนองและกลุ่มฝนกำลังอ่อน-ปานกลาง ปกคลุมพื้นที่สวนยาง 11 จังหวัด คาดว่ามีสวนยางเปิดกรีดที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จำนวน 5,592,621 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่ดังกล่าว (เดือนธันวาคม 2567) หายไปกว่า 142,963.23 ตัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 24.75 ของผลผลิตยางในเดือนนี้ เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ไม่สามารถออกไปกรีดยาง เครื่องมืออุปกรณ์ในการกรีดยางเสียหาย และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังรอการระบาย ด้วยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ผลผลิตยางขาดตลาดได้

นายสุขทัศน์ กล่าวว่า ได้สั่งให้ กยท. ในทุกพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือโดยการมอบถุงยังชีพบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเข้าแจกจ่ายผู้ประสบภัยจัดทำข้าวกล่องและจัดน้ำดื่มมอบให้ชุมชนและโรงพยาบาล และจัดตั้งศูนย์พักพิงโดยเตรียมอาหารเครื่องดื่ม ห้องละหมาด และห้องสุขาให้ผู้ประสบภัยเข้ามาใช้เป็นจุดพักคอยและสามารถจอดรถได้

ขณะเดียวกันยังรวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานราชการอื่นๆ และหน่วยบรรเทาสาธารณะภัย หลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ กยท. จะเร่งเข้าตรวจสอบสภาพสวนยางของพี่น้องเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งหากสวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวน หรือต้นยางได้รับความเสียหายเกิน 20 ต้น/แปลง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กยท. จะจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รายละไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอีกรายละไม่เกิน 50,000 บาท แบบปลอดดอกเบี้ยตลอดสัญญา

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน