จุดจบปลาหมอคางดำในไทย เส้นทางสู่การจัดการที่ยั่งยืน

สินี ศรพระราม เขียน

ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ที่สร้างความกังวลด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศในประเทศไทย หากไม่มีแผนการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีและการจัดการอย่างเป็นระบบ อาจทำให้การรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปได้ยาก ด้วยความสามารถในการปรับตัวได้สูงของปลาชนิดนี้ ทำให้การควบคุมและจัดการเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะกำหนดเส้นทางไปสู่การคลี่คลายปัญหานี้อย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของชุมชน

ปัจจุบันภาครัฐกำหนดแนวทางแก้ปัญหาให้ตรงเป้าหมายที่สุด 2 มาตรการ คือ 1. การควบคุมประชากรในธรรมชาติจากความพยายามลดจำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ จากการจับปลาด้วยเครื่องมือพิเศษ การส่งเสริมการจับปลาหมอคางดำและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนการกำจัดเชิงกลไกและใช้เทคโนโลยีชีวภาพหรือวิธีการจัดการแหล่งน้ำเพื่อควบคุมจำนวนประชากร และ 2. การสร้างการตระหนักรู้ในชุมชนด้วยการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านจำเป็นต้องเข้าใจถึงผลกระทบจากการปล่อยปลาหมอคางดำลงในแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยไว้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และต้องเรียนรู้วิธีการจัดการที่ยั่งยืนด้วยวิธีที่ถูกต้อง

สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการสู่การจัดการที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มงวด เช่น กำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองของปลาชนิดนี้ การกำกับดูแลอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การถ่ายทอดวิธีการป้องกันและบริหารจัดการสำหรับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อควบคุมการแพร่พันธุ์โดยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายซ้ำ

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าปลาหมอคางดำไม่สามารถกำจัดออกจากธรรมชาติได้อย่างสิ้นเชิง แต่สามารถสร้างความสมดุลได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวิธีการควบคุมประชากร เช่น วิธี E-DNA (Environmental DNA) การควบคุมด้วยวิธีชีวภาพปล่อยปลาผู้ล่า การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาหมอคางดำสร้างเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนการกำหนดมาตรการการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้แหล่งน้ำ ด้วยการฟื้นฟูพันธุ์ปลาพื้นเมืองและการปลูกพืชน้ำที่ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ เป็นต้น

กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีการปรับตัวและมีส่วนรวมในการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างถูกวิธีมากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมปริมาณปลาและชะลอการแพร่ระบาดได้ หน่วยงานภาครัฐจึงควรเข้าไปส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอย่างมีประสิทธิภาพและเฝ้าระวังแหล่งน้ำใน สู่การร่วมกันฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว

นักสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรน้ำได้ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในไทยไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จได้ในระยะสั้น แต่ต้องการการวางแผนระยะยาวและดำเนินการแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการจัดการปัญหายังอยู่ในขั้นต้น ในระยะกลางการใช้เทคโนโลยี E-DNA เพื่อสำรวจและระบุแหล่งที่อยู่ของปลาให้ชัดเจนจะช่วยกำจัดปลาได้ตรงเป้าหมาย สามารถควบคุมปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ปัญหานี้จะสามารถบรรเทาและจัดการได้อย่างยั่งยืนในที่สุด./