กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2567 – กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) และวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล (Winrock International) จัดงานเผยแพร่ความรู้ “การใช้โดรนการเกษตรอย่างมืออาชีพ ตามหลักวิชาการและกฎหมาย” พร้อมเปิดตัวคู่มือ “มาตรฐานการปฏิบัติงานการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตร” (SOP) และบัตรประจำตัวผู้ใช้โดรนพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการใช้งานโดรนพ่นสารอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสาวกล้วยไม้ นุชนิยม นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) และ Ms. Kelly Stange ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการเกษตร สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 250 คนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ผู้ให้บริการโดรนเกษตร ผู้จำหน่ายโดรน ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ณ ห้องแคทรียา 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในภาคการเกษตรกำลังเป็นที่นิยมและมีบทบาทสำคัญในประเทศไทย โดยการเปิดตัวคู่มือ “มาตรฐานการปฏิบัติงานการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตร” หรือ SOP ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานโดรนให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้งานได้อย่างแพร่หลาย คู่มือ SOP นี้ถูกพัฒนาขึ้นจากการศึกษาวิจัยด้านอารักขาพืชทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้การใช้งานโดรนในการพ่นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการโดรนการเกษตร
นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการเปิดตัว “บัตรประจำตัวผู้ใช้โดรนพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าผู้ใช้ได้ผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและมีความรู้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้โดรนในภาคการเกษตร
นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า เทคโนโลยีโดรนเกษตรไม่เพียงเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามข้อจำกัดของอดีตสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยศักยภาพ การใช้โดรนเกษตรอย่างมืออาชีพตามหลักวิชาการและกฎหมาย ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรไทยก้าวสู่บทบาท “เกษตรกรยุคใหม่” ที่สามารถปรับตัวและแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคู่มือ SOP” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ:
ข้อกำหนดทางกฎหมายและคุณสมบัตินักบิน: นักบินโดรนเกษตรต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ ทิศทางลม รวมถึงการวางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน
การปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา: ประกอบด้วยขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ การตรวจสอบอุปกรณ์ และการบำรุงรักษาโดรน เช่น การทำความสะอาด การตรวจสอบแบตเตอรี่ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เช่น ชุดป้องกันสารเคมี หน้ากาก และรองเท้าบูท
“การปฏิบัติตามคู่มือ SOP อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานและชุมชน”
ด้าน นางสาวกล้วยไม้ นุชนิยม นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) กล่าวว่า ในระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สมาคมไททาได้ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำ เช่น CropLife International และ CropLife Asia รวมถึงกรมวิชาการเกษตร ผู้ผลิตโดรนชั้นนำ และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการใช้โดรนเกษตรอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ทำให้กรมวิชาการเกษตรสามารถจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ที่ได้รับการ
ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างน่ายินดีและควรชื่นชม สมาคมไททามีเป้าหมายในการขยายการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานโดรนในภาคการเกษตร โดยร่วมมือกับพันธมิตรและสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการรับรองเป็นนักบินโดรนการเกษตร ครอบคลุมทุกพื้นที่ และพัฒนาเทคโนโลยีโดรนที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเกษตรยุคใหม่ให้ก้าวหน้ากว่าเดิม ทั้งยังช่วยให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย
นายวิลเลียม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการเครือข่ายนวัตกรรมการเกษตรระดับภูมิภาค กล่าวต่อว่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และดำเนินการโดยวินร็อค อินเตอร์แนชั่นแนล กล่าวว่าโดรนเป็นนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศที่จะช่วยเกษตรกรไทยให้ปรับตัวต่อผลกระทบจากภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความจำเป็นในการจัดการศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี เนื่องจากลดข้อจำกัดด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพในฉีดพ่นพื้นที่กว้าง และลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของเกษตรกร
การจัดเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ SOP ของการใช้โดรนการเกษตรจะช่วยให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างถูกต้อง และลดผลกระทบข้างเคียงของสารเคมีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อม ในขั้นต่อไปโครงการเรนจะสนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตร พันธมิตร และสถาบันการศึกษาจัดฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มจำนวนนักบินโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรอง และความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโดรนเกษตรให้ตอบความต้องการจากเกษตรกรรายย่อยได้ดีขึ้น อีกทั้งจะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงบริการโดรนการเกษตรได้สะดวกขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ นับเป็นการสร้างตลาดโดรนเกษตรให้แข็งแกร่ง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยเกษตรกร ทั้งนี้การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดรนการเกษตรขององค์การวินร็อคผ่านโครงการเรนเป็นไปตามพันธกิจสนับสนุนการพัฒนาตลาดสำหรับนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร จากการเพิ่มผลผลิตพืชผล และลดต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายวิลเลี่ยมย้ำว่าความสำเร็จของความพยายามสนับสนุนตลาดโดรนการเกษตรนี้ขึ้นอยู่กับความตระหนักรู้และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการสนับสนุนตลาดของเทคโนโลยีโดรน โดยภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกร
พร้อมกันนี้ภายในงานได้มีการเสนากฎระเบียบและกฏหมายเกี่ยวกับการใช้โดรนทางการเกษตรและ มาตรฐานการปฏิบัติงานการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตร อีกทั้งมีการเสวนาเกี่ยวกับทิศทางและอนาคตของการใช้โดรนทางการเกษตร” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก คุณนารากร ติยานน เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวโหลดข้อมูลที่เกี่ยวข้องของการใช้โดรนการเกษตรตามหลักวิชาการและกฏหมาย และติดตามข่าวสารการฝึกอบรมได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/plprotect/) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ โทร. 09 2919 2454