“สเต็มเซลล์”ความหวังใหม่ในยุคสังคมผู้สูงอายุ อีกทางเลือกสร้างไทยเป็น Medical Hub ได้

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราจะเห็นผู้สูงอายุอยู่ในทุกๆ ที่ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นนั่นคือ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่จะช่วยยืดอายุของคน และจะดีหรือไม่ถ้าเราจะมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพด้วยการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง

สเต็มเซลล์ (stem cell) ได้มีการถูกพูดถึงในวงการแพทย์มานานกว่าทศวรรษ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สเต็มเซลล์ สามารถช่วยในการรักษาโรคบางชนิดได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

สเต็มเซลล์ กับการรักษาในวงการแพทย์ไทย

ดร.นพ.ศุภชัย เอกวัฒนกิจ อายุรแพทย์โรคเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พูดถึงสเต็มเซลล์กับการรักษาในวงการแพทย์ไทยในกลุ่มผู้สูงอายุว่า สเต็มเซลล์ ที่กล่าวถึงในทางการแพทย์จะจัดกลุ่มอย่างง่ายๆ ที่จัดตามลำดับวิวัฒนาการการใช้ทางการแพทย์ อาจจะเริ่มจากกลุ่มแรกสเต็มเซลล์ที่มาจากเม็ดเลือด เป็นเซลล์ต้นกำเนิดจากเม็ดเลือด ซึ่งกลุ่มนี้มีการรักษาที่ได้มาตรฐานที่ใช้ในการรักษามานานแล้วหลายสิบปี กลุ่มโรคที่ใช้ในผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังบางชนิดที่ต้องใช้การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือแม้กระทั่งกลุ่มมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด ที่มีข้อบ่งชี้ต้องใช้การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งผู้สูงอายุเป็นคนไข้กลุ่มใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเหล่านี้

ส่วนกลุ่มที่สองส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในงานวิจัย มีข้อมูลในช่วงระยะเวลา 10 – 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มที่นำมาใช้ในปัจจุบันคือกลุ่มงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยีนบำบัด คือ การที่เรานำสเต็มเซลล์เม็ดเลือดออกมาแล้วเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมบางอย่างเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นตั้งแต่กำเนิด เช่น กลุ่มโรคธาลัสซีเมีย กลุ่มโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ โรคเลือดออกหยุดยาก หรืออาจเป็นโรคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรง แต่ในอนาคตอาจมีการปรับใช้กับโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุได้

สเต็มเซลล์ ที่เอามาใช้ในการฟื้นฟูสุขภาพ

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ยังมีกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่ยังอยู่ในงานวิจัย คือ สเต็มเซลล์ที่เอามาใช้ในการฟื้นฟูสุขภาพ เพราะว่ามีโรคหลายๆ โรคที่การแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถทำให้โรคดีขึ้น และทำได้เพียงการฟื้นฟู แล้วให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง สเต็มเซลล์ กลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีคือ Mesenchymal Stem Cell (MSCs) พบว่า มีข้อมูลงานวิจัยที่หลากหลายในการนำมาช่วยฟื้นฟูโรคไม่ว่าจะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคเบาหวาน โรคจากการบาดเจ็บกระดูกสันหลัง โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอีกหลายกลุ่มโรค ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในอนาคต

อนาคต “สเต็มเซลล์” จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ส่วนงานวิจัยอีกกลุ่มจะเป็นในกลุ่ม induced Pluripotent Stem Cells หรือ iPS cells เป็นสเต็มเซลล์ที่เกิดจากการนำเซลล์แก่มาเหนี่ยวนำกลับสู่สภาพสเต็มเซลล์ตั้งต้น สามารถเปลี่ยนอวัยวะได้หลากหลาย แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำมาใช้ในมนุษย์ เพราะยังมีข้อจำกัดในแง่ของผลข้างเคียงที่จะนำไปใช้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สเต็มเซลล์ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะเรามีข้อมูลสะสมมากขึ้น

แนวโน้การใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรค

การใช้สเต็มเซลล์กับการรักษาโรคนั้น ดร.นพ.ศุภชัย ระบุว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ในหลายๆ โรค พบว่า การใช้สเต็มเซลล์ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำให้โรคหายขาด สำหรับ MSCs ซึ่งใช้ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และข้อมูลในหลายๆ โรคจำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สุขภาพร่างกายโดยรวมของคนไข้ดีขึ้น เช่น คนไข้อัมพฤกษ์ อัมพาตที่แขนขาอ่อนแรงไปข้างหนึ่งกล้ามเนื้อขยับได้ไม่ดี การรักษาปัจจุบันทำได้แค่กายภาพ และคาดหวังว่าการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจะกลับมา

แต่ข้อมูลงานวิจัย MSCs พบว่า สามารถทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งมีกล้ามเนื้อขยับได้ดีขึ้น ถ้าเรามองว่าคนไข้อ่อนแรงข้างหนึ่งทำให้ทำงานไม่ได้ ดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องจ้างคนมาดูแลผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ถ้าคนไข้ได้รับการรักษาฟื้นฟูให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ จะลดลง การดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมดีขึ้นตามลำดับ

ทั่วโลกยอมรับ “ไทย” มีศักยภาพด้านการรักษาทางการแพทย์

สำหรับการที่จะนำเรื่องของสเต็มเซลล์เข้ามามีส่วนในการผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นมาสู่การเป็น Medical Hub ดร.นพ.ศุภชัย มองว่า ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงเป็นอย่างดีในด้านการรักษาทางการแพทย์และมีหลากหลายประเทศทั่วโลกสนใจที่จะมารับการรักษาที่ประเทศไทย ดังนั้นการจะก้าวเข้าสู่การเป็น Medical Hub ได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับทางภาครัฐ ภาคเอกชน และทางกลุ่มวิชาการต่างๆ สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม จะเล็งเห็นถึงความสำคัญแล้วก็ลำดับความสำคัญ เนื่องจากเรื่องของสเต็มเซลล์ที่ยังอยู่ส่วนของงานวิจัยยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องการการสนับสนุนทุนจำนวนมาก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับมุมมองว่า ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub เราอาจจะต้องมองดูในภาพรวมว่าเราจะดึงสเต็มเซลล์เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดได้อย่างไร โดยที่ยังมีความปลอดภัยที่ดีอยู่ เพราะว่าการจะรอให้เป็นการรักษาที่มาตรฐานมันต้องใช้เวลานานและเงินทุนจำนวนมาก

การศึกษาทางการแพทย์ใช้ทุนมหาศาล

ดร.นพ.ศุภชัย อธิบายคำว่า “การรักษาที่มาตรฐาน” เพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วการศึกษาวิจัยที่จะพัฒนาเป็นการรักษามาตรฐานได้นั้น จะต้องศึกษาเทียบกับการรักษาปัจจุบัน และต้องมีคนไข้เข้าร่วมจำนวนมาก ต้นทุนในการทำวิจัยเพื่อให้ขึ้นทะเบียนยาเป็นมาตรฐานปัจจุบันต้องใช้เงินเป็นพันล้านบาท เพราะฉะนั้นกว่ายาชนิดใหม่ หรือการรักษาใหม่ๆจะออกมาใช้ได้มันต้องมีเงินลงทุนจำนวนมาก และสุดท้ายอาจไม่ได้ใช้จริง ตัวอย่างเช่น กรณีการใช้ยีนบำบัดที่ใช้จริงในการรักษาโรคเบต้า ธาลัสซีเมีย ในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรากฏว่าเมื่อออกสู่ตลาดแล้ว ประเทศในยุโรปไม่มีประเทศไหนยินยอมให้ใช้ในประเทศตนเองเลยเพราะว่าค่าใช้จ่ายแพงมาก การศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ทุนมาก ดังนั้นราคายาจึงสูงมากเมื่อถึงช่วงเวลาที่ยาเข้าขายในตลาด

ยกตัวอย่างโมเดลที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยคือ ไต้หวัน ที่ปัจจุบันรัฐบาลออกกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้สเต็มเซลล์สำหรับเวชศาสตร์ฟื้นฟูตามโรคที่กำหนด โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของการใช้สเต็มเซลล์ในระดับหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายยังคงเป็นผู้ป่วยที่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะว่าค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่

ดร.นพ.ศุภชัย เอกวัฒนกิจ อายุรแพทย์โรคเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ในระยะยาวถ้าไทยจะผลักดันให้ MSCs ขยายเติบโตมากขึ้นนั้นจะต้องมีการผลักดันจากหลายๆ ฝ่าย ทำให้เป็นเหมือนธนาคารสเต็มเซลล์ก็ได้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า การใช้สเต็มเซลล์ที่ดีที่สุดคือ การใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองสำหรับกลุ่มโรคฟื้นฟู เนื่องจากว่าหากมีการใช้สเต็มเซลล์ของคนอื่นจะต้องมีผลตรวจเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้ เนื่องด้วยความปลอดภัยในระยะยาว

ธนาคารจัดเก็บสเต็มเซลล์ ช่วยดันให้ไทยเป็น Medical Hub ได้

ดังนั้นถ้าไทยมีธนาคารสเต็มเซลล์ของ MSCs ที่มีขนาดใหญ่พอ และมีการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อเป็นข้อมูลไว้ จะสามารถนำมาใช้กับโรคที่ต้องการใช้สเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรอเพาะเลี้ยงภายหลังจากการจัดเก็บ เพราะเรามีสเต็มเซลล์ของที่เนื้อเยื่อเข้ากันได้กับตัวเองก็สามารถดึงข้อมูลของธนาคารและนำสเต็มเซลล์ที่มีความเข้ากันของเนื้อเยื่อมาใช้ได้เลย อาจกล่าวได้ว่า ถ้าไทยมีธนาคารจัดเก็บสเต็มเซลล์ที่ใหญ่พอนั้นจะเป็น Medical Hub ที่ดีได้

แต่ปัญหาหลักของประเทศไทยคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพาต่างชาติ เช่น การวิจัยยาใหม่ๆ หรือทางด้านสเต็มเซลล์ มีต้นทุนสูงมาก หากจะแข่งขันด้านวิทยาการในด้านนี้ไทยอาจจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ถ้าไทยดัดแปลงสิ่งที่ทำได้เอง อย่าง MSCs ที่ทุกประเทศทำได้เองหมด จะอยู่ที่กฎหมาย มาตรฐานการรับรองต่างๆ มันยังมีข้อจำกัดอยู่ ถ้าไทยผลักดันตรงนี้และพัฒนาในเรื่องนี้ให้มากขึ้น แล้วนำมาใช้ในลักษณะที่คนเข้าถึงได้จะเป็นสิ่งที่เพิ่มรายได้ด้านการรักษาให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี

สเต็มเซลล์ ทางเลือกใหม่ ช่วยลดค่ารักษาให้คนไข้

“ในอนาคตเรื่องของสเต็มเซลล์จะมาแน่นอน เพราะว่าไทยจะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยในช่วงเวลานี้ หากเราไปรอการรักษาใหม่ๆ ที่ในปัจจุบันยังเข้าไม่ถึง เช่น ยาใหม่ๆ ในประเทศไทย กว่าคนไข้สิทธิ์บัตรทอง หรือสิทธิ์ประกันสังคม จะได้ใช้ตัวยาใหม่ ต้องใช้เวลา 5-10 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วเรามียาใหม่ในการรักษาเยอะมาก แต่ผู้ป่วยโดยทั่วไปเข้าไม่ถึง ค่าใช้จ่ายสูง รัฐบาลเองมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ในระยะยาวยาพวกนี้จะมีแต่ยาราคาแพง และเป็นไปได้ยากที่จะเข้าถึง ดังนั้นสเต็มเซลล์อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะทำให้สเต็มเซลล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้ สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ ค่าใช้จ่ายต่อคนก็อาจจะลดลง รวมทั้งโรคที่ไม่มีผลการรักษาจริงๆ ไม่มีวิธีการรักษาจริงๆ สเต็มเซลล์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ” ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวสรุป