(10 ม.ค.68) นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา เป็นประธานเปิดกิจกรรม CSR “ปลูกป่า สร้างแหล่งน้ำ สมดุลระบบนิเวศ” โดยมีนักเรียน โรงเรียนบ้านชงโคสันติสุขวิทยาคาร ผู้ปกครอง อาจารย์ และตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ จำนวน 80 คน ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบอ่างเก็บน้ำและช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและปชาชนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
กิจกรรมในวันนี้ มีการแบ่งฐานออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ ฐานแรกได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันปลูกต้นพะยูง และต้นยางนา จำนวน 300 ต้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันกับกรมชลประทานในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานที่ 2 เป็นการรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การผลิตที่เกิดรายได้และการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน
และฐานที่ 3 การรับฟังการบรรยายแปลงสาธิตปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าจากการเพิ่มพื้นที่ป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ปลูก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ขณะเดียวกันการปลูกป่ายังเป็นการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกันอีกด้วย
นายไชยยศ ทุมกองแก้ว เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำคลอง 3 R ม.6 ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยน้ำจากธรรมชาติและน้ำฝน เพื่อทำการเกษตร ซึ่งบางครั้งมีน้ำไม่เพียงพอ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แต่พอมีอ่างเก็บน้ำฯ ได้มีการส่งน้ำให้กับภาคการเกษตร จากที่เคยทำนาข้าว ไร่มันสำปะลัง และไผ่ตง ตอนนี้มีทางเลือกที่จะปลูกพืชชนิดอื่นๆ มากขึ้น เช่น ปลูกพืชผัก และสวนผลไม้ เพิ่มเติมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หลังมีอ่างเก็บน้ำฯ ทำให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น และเห็นคุณค่าของน้ำเป็นอย่างมาก รวมทั้งอยากให้น้ำยังคงมีกินมีใช้ไปตลอด คนในชุมชนจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อสร้างความสมดุล เพราะการปลูกป่า ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้สภาพแวดล้อมพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฯ มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
“อย่างไรก็ดี รู้สึกซาบซึ้งพระมหากรุณาของ ในหลวง ร.9 เป็นอย่างมาก ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ ทำการเกษตร และยังช่วยสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนได้มีน้ำใช้อุปโภคและบริโภค”นายไชยยศ กล่าว
ด้าน นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้มีการปลูกป่าทดแทนมากกว่า 20,000 ไร่ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและชะลอความเร็วของน้ำ ทั้งแบบถาวร กึ่งถาวร และแบบผสมผสาน นอกจากนี้ ยังให้ความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อป้องกันการบุกรุกและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติด้านป่าไม้และสัตว์ป่าในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำฯ และอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ จากการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสัตว์ป่าในปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่า กระทิง และสัตว์ที่สำคัญชนิดอื่นๆ รวมถึงสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยรอบอ่างเก็บน้ำฯ มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและป่าไม้มีความอุมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับว่าเป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดปราจีนบุรี สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้มากถึง 111,300 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 37 หมู่บ้าน (5 หมู่บ้านในอำเภอนาดี และ 32 หมู่บ้านในอำเภอกบินทร์บุรี) ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว กรมชลประทานยังได้สนับสนุนอาชีพให้แก่ประชาชนบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำฯ ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรแบบบูรณาการ มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกร พร้อมส่งเสริมการทำประมง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสืบไป