เชิญบริจาคเงินสมทบทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

เมื่อเร็วๆ นี้ พระพรหมวชิรเวที (อมร ญาโณทโย) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และนายแพทย์พันธวี คำสาว ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้จัดงานแถลงข่าวการเปิดรับบริจาคสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2569 พร้อมนำคณะมวลชวนร่วมงานพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ. บริเวณอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จำนวน 3 องค์ ได้แก่ “พระสายน์” (จำลองจากพระประธานในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร) และอีก 2 องค์ ประกอบด้วยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อนำไปประดิษฐาน ที่หอธรรมจินดาสุข โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น (โดยปรับปรุงจากกุฏิที่ท่านเคยมาพำนักจำพรรษา เมื่อครั้งจาริกมาศึกษาธรรมที่กรุงเทพมหานคร ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เชิงนิทรรศการถาวร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้หลักธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายพระป่ากัมมัฏฐานของไทย)
พระพรหมวชิรเวที (อมร ญาโณทโย) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กล่าวว่า “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เคยจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม 1 พรรษา เมื่อครั้งจาริกมาศึกษาธรรมที่กรุงเทพมหานคร และเป็นจุดแวะพักตั้งต้น ก่อนจาริกธุดงค์ไปภาคเหนือและตะวันตก และในขณะจำพรรษานั้นท่านได้มอบมรดกธรรมชิ้นสำคัญไว้ คือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ ซึ่งเป็นธรรมบรรยายลายมือของหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นหลักฐานลายมือเพียงชิ้นเดียวที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน” และกุฏิที่ท่านเคยมาพำนักจำพรรษานั้น ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พิพิธภัณฑ์เชิงนิทรรศการถาวร จัดแสดงธุดงควัตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้หลักธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายพระป่ากัมมัฏฐานขอองไทย และ UNESCO ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาสันติภาพ โดยพิพิธภัณฑ์เปิดให้ทุกท่านได้เข้าเยี่ยมชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8:00 – 17:00 น. หยุดวันจันทร์และวันอังคาร โดยมีผู้นำชมและให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน”
และพระธรรมวัชรญาณวิศิษฏ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้นได้กล่าวถึงที่มาของการสร้างโรงพยาบาลหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่า “จังหวัดสกลนครมีความผูกพันกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตมาก ท่านมาจำพรรษาอยู่ในวัดป่าที่สกลนครหลายวัด และละสังขารก็ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนครนี่เอง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต“ ก็อยู่ที่วัดภูริทัตตถิราวาส” หรือ “วัดป่าบ้านหนองผือ” ที่สกลนครด้วย”
“ทีนี้ตอนครบรอบ 150 ปี ชาตกาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพอดีกับที่ท่านได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาสันติภาพของยูเนสโก วัดปทุมวนารามราชวรวิหารจึงริเริ่มแนวคิดที่จะก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ขึ้น โดยตั้งขึ้น ที่บ้านลึมบอง หมู่ 3 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร เป็นโรงพยาบาลสาขาของโรงพยาบาลบ้านม่วง ซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น“โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” โดยอาตมาได้ให้โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่จะสร้างนี้ใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ศูนย์พระธรรมวัชรญาณวิศิษฏ์ (บ้านลึม
บอง)”
โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ศูนย์พระธรรมวัชรญาณวิศิษฏ์ (บ้านลึมบอง) แห่งนี้ มีการสร้างหอธรรมจินดาสุข เป็นอาคารลักษณะคล้ายศาลาการเปรียญ จึงมีการหล่อพระประธานคือพระสายน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในวัดปทุมวนาราม ขนาดหน้าตัก 40 นิ้ว และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น กับหลวงตามหาบัว ขนาด 30 นิ้ว เพื่อนำไปประดิษฐานในหอธรรมแห่งนี้ วัตถุประสงค์การก่อสร้าง เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของประชาชน ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงบุคลากร ใช้เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทั้งการบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วยธรรมะ และเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ แก่ผู้ป่วย และชุมชนใกล้เคียง”
ทางด้านนายแพทย์พันธวี คำสาว ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภุริทัตโต กล่าวถึงประโยชน์ของการมีโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของ อ.บ้านม่วง ว่า “เนื่องจากอำเภอบ้านม่วงเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่ 850 ตร.กม. มีประชากรในพื้นที่ 7หมื่นคน ห่างไกลจากตัวจังหวัด ระยะทาง 130 กม. ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 2 ชม. มีความลำบากในการเดินทางเข้าโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งอำเภอบ้านม่วงมีโรงพยาบาลหลัก 1 แห่ง คือโรงพยาบาลบ้านม่วง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นโรงพยาบาลขนาด 82 เตียง ดูแลคนไข้ทั้งในอำเภอบ้านม่วงและใกล้เคียง มีความแออัด และประชาชนบางพื้นที่ยังมีความห่างไกลจากโรงพยาบาล เดินทางลำบาก”
“และในการสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แห่งที่ 2 (ศูนย์พระธรรมวัชรญาณวิศิษฏ์เวชชานุกูล
บ้านลึมบอง)นี้ จะทำให้ลดความแออัดของโรงพยาบาลและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และโรงพยาบาลสามารถเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้นตามสภาพปัญหาทางสุขภาพในปัจจุบัน”
“ในส่วนการดำเนินการก่อสร้างนั้น “เมิ่อวันที่ 20 กันยายน 2565 กรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 40 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงอีบ่าง-ป่าดงคำกั้ง-ป่าดงคำพลู ที่บ้านลึมบอง หมู่ 3 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการในปี 2566 ปัจจุบัน ได้รับทุนเบื้องต้นในการก่อสร้าง 78.5 ล้านบาท จากผู้มีจิตศรัทธา กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคาร ผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยในขนาด 30 เตียง ซึ่งดำเนินการไปแล้วประมาณ 60% และศาลาธรรม ที่มองว่าจะเป็นศูนย์รวมใจของประชาชน และผู้ป่วยในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจ ส่วนนี้ดำเนินการใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการของบประมาณสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 37 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบสาธารณูปโภค อาคารที่พักอาศัยของบุคลากร ระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน และถนน ภายในโครงการ เพื่อให้องค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรม ของโรงพยาบาลมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
“โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แห่งที่ 2 มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดหวังว่าจะมีอาคารสถานที่ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพียงพอที่จะให้บริการได้ ในช่วงแรกอาจจะยังไม่ครบสมบูรณ์ 100% แต่ขอให้เพียงพอสำหรับการเริ่มให้บริการ ส่วนสิ่งอื่นๆที่ยังขาด สามารถเพิ่มเติมในภายหลังได้ครับ”
“ส่วนเป้าหมายในการให้บริการดูแลผู้ป่วยนั้น นายแพทย์พันธวี คำสาว กล่าวต่อว่า “ทางโรงพยาบาลฯได้มีการประชุมวางแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ฯ แห่งที่ 2 โดยพิจารณาจากสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพในพื้นที่ พบว่าแนวโน้มทางด้านประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากมีอัตราเด็กเกิดใหม่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คนอายุยืนมากขึ้น แต่เป็นการอายุยืนพร้อมกับการเจ็บป่วยเรื้อรังและความทุพลภาพ คาดว่า ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า สัดส่วนประชากรวัยทำงานจะลดลง และผู้สูงอายุจะมากขึ้น และอีกปัญหาทางสังคมคือปัญหายาเสพติด ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงได้กำหนดทิศทางการให้บริการของโรงพยาบาลไปที่การดูแลผู้ป่วย 3 กลุ่มหลักคือ ผู้ป่วยระยะประคับประคองหรือระยะสุดท้าย(Palliative care) ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูระยะกลาง(Intermediate care) และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจะเป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลแห่งนี้ สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั้งภายในอำเภอ และภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และตอบสนองต่อสภาพปัญหาด้านสุขภาพอย่างแท้จริง”
“ด้านการบริหารจัดการอัตรากำลังบุคลากร จะเป็นการบริหารอัตรากำลังร่วมกับโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (แห่งที่ 1) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของโรงพยาบาล ปัจจุบัน มีบุคลากรอยู่ทั้งสิ้น 320 คน แพทย์ 10 คน พยาบาล 72 คน และสหวิชาชีพอื่นๆ เมื่อเปิดโรงพยาบาลอีกแห่ง ประมาณการไว้ว่าจำเป็นจะต้องมีบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 100 คน ประกอบด้วย แพทย์ 4 คน และพยาบาล 30 คน และสหวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการตามเป้าหมาย ในระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรที่มีอยู่ ทั้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ บำบัดและอื่นๆ โดยการส่งฝึกอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในสาขาที่จะเปิดให้บริการ ได้แก่ เวชศาสตร์ยาเสพติด การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ศักยภาพด้านบุคลากร จะเพียงพอและสอดคล้องกับรูบแบบการให้บริการของโรงพยาบาล”
ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประชาชน ชาวบ้านลึมบอง ประชาชนตำบลบ่อแก้ว ประชาชนอำเภอบ้านม่วง และจังหวัดสกลนคร รวมถึงส่วนราชการต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่นฯ ทุกภาคส่วนจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่น และความสามัคคีของคนในชุมชน”
อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องการรับบริจาคเพื่อให้เปิดดำเนินการได้
การเปิดบริการของโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่นฯ แห่งที่ 2 มีความจำเป็นที่จะต้องจัดหา งบประมาณเพื่อจัดซื้อ รถพยาบาล ยานพาหนะ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน ระบบออกซิเจนเหลว และอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็น มูลค่าโดยประมาณ 47.9 ล้านบาท ซึ่งรายการเบื้องต้นประกอบด้วย
– รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ฉุกเฉิน จำนวน 3 คัน คันละ 2,500,000 บาท
– เครื่อง x-ray ทั่วไป ขนาด 500 MA จำนวน 1 เครื่อง 1,700,000 บาท
– เครื่องช่วยนวดหัวใจและฟั้นคืนชีพอัตโนมัติ จำนวน 1 เครื่อง 1,000,000 บาท
– เครื่องอัลตราซาวน์ 1 เครื่อง 930,000 บาท
– เครื่องฝึกการทรงตัว พร้อมอุปกรณ์ยกผู้ป่วย สำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 2 เครื่อง เครื่องละ 810,000 บาท
– เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 1 เครื่อง 900,000 บาท
รวมทั้งยานพาหนะและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 147 รายการ มูลค่าทั้งสิ้น 47,944,960 บาท
และในวันที่ 20 มกราคมนี้ เป็นวันครบรอบ 155 ปี ชาตกาลหลวงปู่มั่นฯ เพื่อเป็นมหาเถรบูชาต่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชน และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคเพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผ่านระบบ e-donation ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษี ได้ 2 เท่า โดยสามารถบริจาค ได้ที่ บัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ชื่อบัญชี “กองทุนเครื่องมือแพทย์ รพ.พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” เลขที่บัญชี 020229922839 หรือบริจาค ด้วย mobile application ของธนาคาร โดยสแกน QR code บริจาคผ่านระบบ e-donation โดยตรง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทร 0986950325 หรือ line official account @pmhdonation โดยสามารถบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ส่วนคุณพิพัตร ราชปึ ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ กล่าวถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ในการก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า “ในนามของตัวแทนชาวบ้านลึมบอง หลังจากทราบว่าจะมีการสร้างโรงพยาบาลในหมู่บ้านลึมบอง ผมและชาวบ้านมีความรู้สึกตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเป็นบุญของชาวบ้านโดยแท้จริง ที่จะมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้และเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ชาวลึมบองและชาวอำเภอบ้านม่วงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการของโรงพยาบาล ตั้งแต่เริ่มกระบวนการดำเนินงานผมและชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกับทุกภาคส่วน ดำเนินการในกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่นฯ และผมมั่นใจว่าโรงพยาบาลแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ตามกำหนดเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี”
และในโอกาสครบรอบ 155 ปี ชาตกาลหลวงปู่มั่นฯ ในปีนี้ คุณพสุ ตีรวัชร ผู้บริหารเพจ “พุทธสายฤทธิ์” ได้ผลิตสารคดีหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ชุด “ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว” เผยว่ามีแรงบันดาลใจจาก “สังคมไทยปัจจุบันเผชิญกับปัญหาความเสื่อมทรามทางศีลธรรม อาชญากรรม และความวุ่นวายต่างๆ การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ง่าย เพราะผู้คนในปัจจุบันไม่ชอบการสอนแบบตรงไปตรงมา และต้องเชื่อหรือมีศรัทธาก่อนจึงจะยอมรับฟัง เพื่อเป็นการยกระดับสังคม ผ่านการเรียนรู้แบบไม่ยัดเยียด ทีมงานจึงมีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์สารคดีคุณภาพเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของพระอริยะและพระธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจปฏิบัติธรรม และแก้ไขปัญหาสังคม”
“โดยในสารคดีชุด “ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว” จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วันที่ท่านถือกำเนิดจนวันละสังขาร และคำสอนต่าง ๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ยืนยันได้โดยการยกย่องจากองค์กร UNESCO ตลอดจนลูกศิษย์คนสำคัญของท่านที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาต่อมา”
“จุดเด่นของสารคดีชุดนี้ เรามุ่งหวังที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของท่านในมุมมองที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ผ่านสารคดีชุดประกอบเสียงบรรยาย ที่สร้างภาพกึ่งเสมือนจริงจากเทคโนโลยี AI Generated แล้วทำให้วัตถุในภาพสามารถเคลื่อนไหวผ่านเทคโนโลยีล่าสุด จนเกิด Visual ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเพื่อดึงดูดความสนใจ เร้าอารมณ์ สร้างความรู้สึกร่วม พร้อมดนตรีประกอบที่พิถีพิถันเพื่อให้ช่วยยกระดับประสบการณ์การรับชม เพื่อให้ผู้ชมทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าใจและซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนของท่านได้” คุณพสุ ตีรวัชร กล่าวในท้ายสุด
#############
“อยู่สกล รักสกล ทำเพื่อสกลนคร”