สหกรณ์ฯเชียงใหม่-ลำพูน ชูศูนย์เรียนรู้”ฟาร์มกลางอัจฉริยะ”ตอบโจทย์”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”สมาชิก

ผลกระทบจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงและราคาไข่ไก่ตกต่ำในปี 2543 ส่งผลให้เกษตรกรประกอบอาชีพลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่จ.เชียงใหม่และลำพูนไม่น้อยกว่า 30 รายเดือดร้อนอย่างหนัก จำต้องรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กว่า 20 ปีการดำเนินงานของสหกรณ์ฯเติบโตก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จวบจนปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ร่วมเป็นสมาชิกแล้วจำนวนทั้งสิ้น 61 ราย มีทั้งฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่ ตั้งแต่รายละหลักพันตัวจนถึงหลักหลายหมื่น ขณะเดียวกันสหกรณ์ฯก็ยังได้จัดสร้างฟาร์มเลี้ยงอัจฉริยะยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่แบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์นโยบาย”ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้”ให้กับสมาชิกอีกด้วย

สายฝน แสงใส ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน กล่าวถึงศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ในรูปแบบฟาร์มกลางของสหกรณ์ ปัจจุบันประกอบด้วยโรงเรือนอัจฉริยะ 2 โรง มีระบบการทำงานแบบอัตโนมัติทั้งหมด โดยแต่ละโรงมีแม่ไก่ยืนกรง 3.5 หมื่นตัว รวม 2 โรง 7 หมื่นตัว ให้ไข่เฉลี่ย 6 หมื่นฟองต่อวันตั้งอยู่ที่ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูนและมีโรงงานแปรรูป 1 แห่ง โรงผลิตอาหารสัตว์ 1 แห่ง รวมทั้งสำนักงานที่ตั้งสหกรณ์อยู่ที่ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกจำนวน 61 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้งสองจังหวัด มีขนาดฟาร์มเลี้ยง ตั้งแต่ 1,000 ตัวไปจนถึง 50,000 ตัว ให้ปริมาณไข่ไก่เฉลี่ยต่อวันสูงสุดอยู่ที่ 270,000-280,000 ฟอง แต่ด้วยความเจริญที่รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยต้องล้มเลิกกิจการไป ส่งผลให้ขาดรายได้ สหกรณ์จำเป็นต้องดูแลสมาชิกกลุ่มนี้ด้วยการเปิดโอกาสให้เพิ่มหุ้นในสหกรณ์ฯเพื่อจะได้มีรายได้จากเงินปันผลเมื่อตอนสิ้นปี

“เดี๋ยวนี้การจะเลี้ยงไก่ไข่เราจะต้องทำประชาคมหมู่บ้าน พอความเจริญมาถึงฟาร์มเลี้ยงอยู่กับชุมชนไม่ได้ ถึงแม้เราจะดูแลฟาร์มดีขนาดไหน ชุมชนก็รังเกียจเราอยู่ดี ตอนนี้มีฟาร์มเล็กๆ ก็จะเลิกเลี้ยงไปแล้ว 20 กว่าฟาร์ม ยอดตัวเลขไก่ยืนกรงรวม 1.5 แสนตัว โดยประมาณ ที่สหกรณ์ต้องดูแลคนกลุ่มนี้เพราะเป็นรายย่อยสายป่านไม่ยาวพอซื้อที่ดินสร้างฟาร์มใหม่ เพราะธุรกิจนี้ลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อไม่มีทายาทสานต่อ สมาชิกก็อายุเยอะขึ้นทำให้กลุ่มนี้หายไป บางคนเลี้ยงไก่ไข่มาเป็นยี่สิบสามสิบปี เขาไม่ได้มีอาชีพอย่างอื่น ยกเว้นทำสวนลำไย วิธีแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ก็คือระดมทุนในรูปของการเพิ่มหุ้นในศูนย์การเรียนรู้แล้วให้สหกรณ์บริหารจัดการ ผลการดำเนินงานออกมาเราก็จ่ายคืนในรูปเงินปันผลไป”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมเผย

เธอกล่าวต่อว่าสำหรับกลุ่มที่เหลือปัจจุบันมีตั้งแต่ระดับ 5,000 ตัวขึ้นไป สูงสุด 3 หมื่นกว่าตัว โดยภาพรวมเฉลี่ยรายละ 2-3 หมื่นตัว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสหกรณ์ไม่สามารถควบคุมขนาดและปริมาณไข่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ หากกำลังการผลิตลดลงด้วยปัจจัยใดก็ตาม อาจทำให้เสียตลาดส่วนนี้ไปได้ คณะกรรมการฯ จึงมีแนวคิดทำฟาร์มเลี้ยงกลางขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

“เดิมทีเราไม่มีฟาร์มกลาง แต่เราจะดูแลเรื่องการตลาดและผลิตอาหารไก่ป้อนให้กับสมาชิก แต่เกิดปัญหาผลิตไข่ไม่เพียงพอความต้องการของตลาด แล้วเราไม่สามารถกำหนดขนาดตามที่ลูกค้าต้องการได้ นี่เหตุผลสำคัญทำให้มีการก่อตั้งฟาร์มเลี้ยงกลางขึ้นมาในปี 2565 เริ่มเลี้ยงไก่ชุดแรกในปี 2566 ”ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไขเชียงใหม่-ลำพูน เผยและระบุว่าปัจจุบันฟาร์มกลางเป็นฟาร์มเลี้ยงอัจฉริยะ มีจำนวน 2 โรงเรือนแต่ละโรงเรีอนมี 4 ชั้น มีไก่ยืนกรงโรงละ 3.5 หมื่นตัว ให้ปริมาณไข่ไก่เฉลี่ย 7 หมื่นฟองต่อวัน การบริหารจัดการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมในทุกขั้นตอนการผลิต

“วันนี้เรามีปริมาณไข่เฉลี่ยวันละ 7 หมื่นฟอง รวมทั้งของสมาชิกด้วย แต่ถ้าไข่เต็มที่อยู่ที่ 2.7-2.8 แสนฟองต่อวัน แต่ช่วงนี้อยู่ในช่วงการพักเล้าปริมาณไข่จึงมีน้อย”สายฝนระบุและยอมรับการตลาด ทุกวันนี้เรามีลูกค้าในพื้นที่ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง เรามีร้านค้าของสหกรณ์ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง มี บิ๊กซี เซ็นทรัล ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดริมปิง อันนี้ตลาดบน ส่วนตลาดล่างก็ขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่และเครือข่ายสหกรณ์ในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดเกือบ 30 สหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายของเรา ทำให้วันนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดแต่อย่างใด

สายฝน อธิบายการทำงานของฟาร์มกลางอัจฉริยะว่าทุกขั้นตอนทั้งการให้อาหารไก่ เก็บไข่ไก่ ตลอดจนกวาดมูลไก่จากเล้าจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เนื่องจากเป็นระบบฟาร์มปิด โดยพนักงานทำหน้าที่เพียงแค่กดปุ่มเท่านั้น ทั้งการให้อาหาร การลำเลียงไข่ ตลอดจนการทำความสะอาดเล้า โดยการให้อาหาร จะเซ็ตตั้งระบบเอาไว้วันละ 8 รอบ การเก็บไข่วันละ 3 รอบเช้าเที่ยง บ่าย โดยไข่จะถูกลำเลียงไปตามสายพานเพื่อทำการคัดแยกเพื่อบรรจุในกล่องเตรียมส่งลูกค้าต่อไป ส่วนการทำความสะอาดเล้า เก็กกวาดมูลไก่ในเล้าในทุกเช้าก็ใช้ระบบอัตโนมัติเช่นกัน โดยมูลไก่ทั้งหมดจะถูกลำเลียงไปสู่บ่อไบโอแก๊สเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ที่ปัจจุบันใช้แผงโซล่าเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้กระแสไฟฟ้าภายในฟาร์ม
“ตอนนี้เราจะมีเครื่องแปลงกระแสไฟ แปลงแก๊สจากมูลไก่มาเป็นกระแสไฟใช้ภายในฟาร์มของเราเอง เพิ่งเริ่มทำช่วงแรกกำลังใช้ไฟจากแก๊สยังไม่ร้อยเปอร์เซนต์ เน้นเฉพาะช่วงค่าไฟค่อนข้างสูงตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 7 โมงเช้า ส่วนกลางวันใช้โซล่าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้ไฟจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปกติใช้โซล่าเซลล์ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าไปได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีไบโอแก๊สเข้ามาเสริมสามารถลดค่าไฟลงไปครึ่งต่อครึ่ง จากบิลค่าไฟเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากเดิมอยู่ที่ 7 หมื่นตอนนี้ลดลงเหลือ 3 หมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง”สายฝนเผย

ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมยังกล่าวถึงกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่คุณภาพว่านับตั้งแต่ลูกเจี้ยบจนถึงปลดระวางใช้เวลาประมาณ 16 เดือนหรือประมาณ 80 สัปดาห์ จะดูแลอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการเลี้ยงตั้งแต่การฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน การให้อาหารอย่างเต็มที่ จาการผลิตของสหกรณ์เองโดยใช้วัตถุดิบคุณภาพ จึงทำให้ไข่ออกมามีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังมีการวางแผนร่วมกับสมาชิกในการผลิตไข่ให้สอดคล้องกับตลาดด้วย

“พอเรามีศูนย์การเรียนรู้มีฟาร์มกลาง เราสามารถคอนโทรลเองได้ พอไก่ของสมาชิกขึ้นกรงนาน ๆ ไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เราก็จะเน้นผลิตไข่ไซต์เล็กเพื่อให้ลูกค้าเลือกได้ตามต้องการ ไม่ใช่มีแต่ไซต์ใหญ่หรือไซต์เล็กอย่างเดียว ลูกค้าไม่สามารถเลือกได้ ฟาร์มกลางของสหกรณ์ฯเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้”

สายฝนยอมรับว่า จุดอ่อนของเราวันนี้คือไม่มีพ่อแม่พันธุ์เป็นของตนเอง โดยซื้อพันธุ์สัตว์(ลูกเจ็ยบ)จากบริษัทเอกชนเป็นหลัก จึงไม่สามารถคอนโทรลการเลี้ยงได้ บางครั้งต้องรอพันธุ์นานถึง 3-4 เดือนกว่าบริษัทจะนำมาส่ง หลังไก่ยืนกรงปลดระวางทำให้การเลี้ยงไม่ต่อเนื่องส่งผลให้สมาชิกขาดรายได้ โดยปัจจุบันบริษัทเอกชนที่ได้รับโควต้าจากรัฐบาลนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ จำนวน 16 บริษัทเท่านั้น นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ปีละ 440,000ตัว จึงฝากไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากจัดโควต้าพ่อแม่พันธุ์ให้กับสหกรณ์ฯด้วย เพื่อความยั่งยืนมั่นคงด้านอาชีพของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งสหกรณ์จะใช้พ่อแม่พันธุ์ประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น
“ต้องขอบคุณกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่สนับสนุนงบประมาณแบบให้เปล่าจัดซื้อเครื่องผลิตอาหารสัตว์เมื่อปี 2555 ทุกวันนี้มีกำลังผลิตอาหารสัตว์เฉลี่ยวันละ 30 ตัน ถ้าผลิตเต็มที่จะอยู่ที่ 40 ตันต่อวัน มาจนทุกวันนี้แล้วยังได้รับสนับสนุนงบประมาณจัดสร้างไซโลเก็บข้าวโพดอีก 2 ลูก ขนาดความจุลูกละ 1 ล้านกิโลกรัม งบฯส่วนนี้กรมออก70 เปอร์เซ็นต์ สหกรณ์ออก30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวัตถุดิบหลักการผลิตคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รับซื้อจากสหกรณ์ผู้ปลูกข้าวโพดในเครือข่าย”ผู้จัดการสหกรณ์คนเดิมกล่าวและย้ำว่า
ขณะนี้สหกรณ์ฯมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่เพิ่ม เนื่องจากพื้นที่เดิมมีความแออัด โดยสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่เพิ่มอีก 1 โรงรองรับความต้องการของตลาด พร้อมมีแผนจะนำเทคโนโลยีระบบลำเลียงผลผลิตและเครื่องคัดแยกไข่ไก่เพิ่มเติม โดยทั้งสองอุปกรณ์รวมมูลค่า 10 ล้านบาทแบ่งเป็นเครื่องลำเลียงผลผลิต ราคา 3 ล้านบาทและเครื่องคัดแยกขนาดไข่ไก่ ราคา 7 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การคัดแยกและการลำเลียงผลผลิตส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจเยี่ยมชมศูนย์ศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ในรูปแบบฟาร์มกลาง สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด เป็นหมู่คณะติดต่อคุณสายฝน แสงใส ผู้จัดการสหกรณ์ฯโทร.08-1884-8186 ได้ทุกวันในเวลาราชการ