“ฟิลิปส์”จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Philips Ambition Cup 2024

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – เมื่อเร็วๆ นี้ ฟิลิปส์ ประเทศไทย ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลกได้จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ “Philips Ambition Cup 2024” ณ โรงแรมอีสติน พญาไท กรุงเทพฯ โดย Philips Ambition Cup 2024 เป็นการประกวดผลงานเทคนิคการใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ของนักรังสีเทคนิคจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้เครื่องมือทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปต่อยอดและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผู้ชนะคว้าเงินรางวัลสูงสุด 30,000 บาท

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Philips Ambition Cup เป็นการจัดการแข่งขันที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2022 โดยรอยัล ฟิลิปส์ โดยมีการจัดการแข่งขันในหลายประเทศ อาทิ ประเทศเนเธอร์แลนด์, อินเดีย, ญี่ปุ่น และประเทศไทย สำหรับการแข่งขัน Philips Ambition Cup 2024 ในประเทศไทยได้จัดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เราได้เปิดโอกาสให้นักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าร่วมส่งผลงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 ที่ผ่านมา และได้คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายมาชิงชนะเลิศกันในวันนี้ โดยเราได้รับเกียรติจากรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิคและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน เราเล็งเห็นว่าการแข่งขัน Philips Ambition Cup จะเปิดโอกาสให้นักรังสีเทคนิคทั่วประเทศได้แสดงศักยภาพการทำงานและใช้เครื่อง MRI อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งยังสามารถนำผลงานหรือเทคนิคของแต่ละโรงพยาบาลมาร่วมแชร์ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆ ได้นำไปปรับปรุงและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเครื่อง MRI เป็นเครื่องตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาที่สามารถตรวจได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคตับและอวัยวะภายในช่องท้อง หรือโรคเกี่ยวกับกระดูก และมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น”

สำหรับการแข่งขัน Philips Ambition Cup 2024 ในประเทศไทย มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ผลงาน ได้แก่

  1. The effect of 4D-PCA compared with CE-MRA on patients with congenital heart disease โดยนายจิณณวัตร รัตนัง และ นายปธานิน จินดารุ่งเรืองกุล นักรังสีการแพทย์ ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. Enhancing clarity: Optimizing inversion time selection for grey-blood LGE cardiac imaging โดยนางสาววัชรี ประเสริฐกุลชัย นักรังสีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
  3. Image quality assessment of compressed sense accelerated MRI of the brain
    โดยนางสาวจันทราพร นกจันทร์ และ นางสาวภิรมณ คงเจริญ นักรังสีทางการแพทย์ ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า โรงพยาบาลรามาธิบดี
  4. Changed workflow to improve image quality of technique CE MRA & MRV
    โดยนางสาวธนัชชา สกุลศักดิ์ นักรังสีเทคนิค โรงพยาบาลกรุงเทพ
  5. Tip and Trick: Use MRI only for brachytherapy with a carbon fiber couch
    โดยนายชลคินทร์ ครรชิตชลกุล และ นางสาวชณิดา สถิตวัฒนวิโรจน์ นักรังสีเทคนิคและนักฟิสิกส์ สาขารังสีรังษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ยะราช อาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนคณะกรรมการตัดสินของ ‘Philips Ambition Cup 2024’ กล่าวว่า “ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมมีความสามารถโดดเด่นและนำเสนอเทคนิคการใช้เครื่อง MRI ที่แตกต่างกัน โดยเกณฑ์การตัดสินพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1)เนื้อหาการวิจัยและเทคนิคการประยุกต์ใช้เครื่อง MRI ซึ่งมีสัดส่วนคะแนนสูงสุด, (2)รูปแบบการนำเสนอ (3)ความคิดสร้างสรรค์ และ (4)ความเป็นไปได้ในการนำไปต่อยอดใช้จริง โดยทีมที่ชนะเลิศในปีนี้ถือเป็นทีมของน้องใหม่ที่มีความโดดเด่นด้วยการนำเสนอสถิติที่ครบถ้วนและจำนวนเคสที่ร่วมวิจัยที่มากพอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของเทคนิคที่นำเสนอ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศูนย์MRI อื่นๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้จริงในอนาคต ผมมองว่าโครงการ ‘Philips Ambition Cup’ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการรังสีวิทยาไทย เพราะมีการรับฟังความคิดเห็นจากนักรังสีเทคนิคที่ใช้งานจริง เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง และพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ตอบโจทย์การทำงานได้มากขึ้น”

สำหรับผู้ชนะในปีนี้เป็นของทีมศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน “The effect of 4D-PCA compared with CE-MRA on patients with congenital heart disease” ที่นำเสนอผลงานเกี่ยวกับการตรวจหัวใจด้วยเครื่อง MRI โดยไม่ต้องสารเพิ่มความเปรียบต่างในเนื้อเยื่อ (Contrast Media)

นายปธานิน จินดารุ่งเรืองกุล (ซ้าย) และนายจิณณวัตร รัตนัง (ขวา) นักรังสีการแพทย์ ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ที่เราเลือกหัวข้อวิจัยนี้ในการส่งเข้าประกวด เป็นเพราะว่าเราพบความท้าทายในการตรวจหัวใจด้วยเครื่อง MRI ในเด็ก ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวต่อารเพิ่มความเปรียบต่างในเนื้อเยื่อจำนวนมาก การตรวจด้วยเครื่อง MRI จำเป็นต้องฉีดสารนี้เพื่อให้มองเห็นลักษณะทางกายวิภาคของหัวใจ แต่หากเราใช้เทคนิค 4D-PCA เราก็ไม่จำเป็นต้องฉีดสารดังกล่าว แต่ยังคงมองเห็นลักษณะของหัวใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสามารถวิเคราะห์รอยโรคได้ อีกทั้งยังลดเวลาในสแกนลงได้ถึง 30% โดยเคสที่นำมาเก็บข้อมูลงานชิ้นนี้คือผู้ป่วยเด็กซึ่งให้ความร่วมมือในการตรวจได้เป็นอย่างดี และสามารถฝึกกลั้นหายใจได้ก่อนเข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ผู้ป่วยเด็กเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพ้สารดังกล่าว และหากต้องตรวจติดตามอาการเป็นประจำ อาจเกิดการสะสมในร่างกายซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพได้ในอนาคตโดยปกติแล้วการทำงานกับผู้ป่วยเด็กจะมีความท้าทายมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อยู่แล้วด้วยปัจจัยของวัย การควบคุมสมาธิและภาวะอารมณ์ที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ทั้งทีมนักรังสีเทคนิคและผู้ปกครองเองต้องมีวิธีการดึงดูดความสนใจของผู้ป่วยเด็กเพื่อให้ร่วมมือในระหว่างการตรวจจนสิ้นสุดกระบวนการ”

“สำหรับการเข้าร่วมแข่งขัน Philips Ambition Cup ของเราได้เข้าร่วมส่งผลงานปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งเราสองคนรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ยอมรับว่ารู้สึกกดดันมากในช่วงแรกแต่เพราะต้องการมาหาประสบการณ์และอยากนำข้อมูลดีๆ ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ในวงการมาแชร์ ประกอบกับเราได้อาจารย์แพทย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น เรารู้สึกว่าโครงการฯนี้ เป็นโครงการที่ดีต่อวงการรังสีเทคนิคอย่างแท้จริง เพราะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และปัญหาที่พบในการทำงานจริง รวมถึงการหาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง เราก็หวังว่าผลงานวิจัยของเราจะเป็นประโยชน์ต่อนักรังสีท่านอื่นๆ ในการนำเครื่อง MRI ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายจิณณวัตร รัตนัง และนายปธานิน จินดารุ่งเรืองกุล กล่าวสรุป

สำหรับเทรนด์ด้านรังสีวิทยาและการใช้เครื่อง MRI ในอนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ยะราช อาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการกล่าวถึงว่า “จากการเก็บข้อมูลล่าสุดพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่อง MRI ประมาณ 200 กว่าเครื่อง โดยเทรนด์ในปัจจุบันมองว่านวัตกรรม MRI High Field เป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง ด้วยคุณสมบัติที่สามารถใช้งานตรวจอวัยวะได้หลากหลาย ให้ภาพที่มีรายละเอียดและความคมชัดสูง ใช้เวลาการตรวจที่สั้นลงจึงส่งผลดีทั้งต่อผู้ป่วยเองและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง AI และ Big Data ก็เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานข้อมูลการประยุกต์ใช้เครื่อง MRI ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันได้มากขึ้นจึงเกิดประโยชน์ที่ช่วยต่อยอดความรู้ทางการแพทย์ให้กับนักรังสีเทคนิคได้ในอนาคต”