กรมส่งเสริมสหกรณ์ หารือเร่งแก้ไขกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนฯ หลังเกิดผลกระทบกับสหกรณ์ที่มีเงินล้นระบบ

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 ทำให้เกิดความกังวลต่อสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์
ถึงความเดือดร้อนที่เกิดจากผลกระทบของกฎกระทรวงเรื่องการจำกัดการลงทุน ส่งผลต่อการบริหารงานสหกรณ์คือทำให้สหกรณ์ที่มีสภาพคล่องที่เหลือจากการกู้ยืมของสมาชิกต้องระงับเงินรับฝากและการถือหุ้นของสมาชิกเนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องเพดานการลงทุนตามกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถสร้างายได้และคืนผลตอบแทนแก่สมาชิกได้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังรับทราบข้อทักท้วงจากสหกรณ์ออมทรัพย์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ตระหนักถึงผลกระทบและมีความยินดีที่จะพิจารณาข้อเสนอของชุมนุมสหกรณ์ และจะทบทวนแก้ไขกฎกระทรวงฯบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์มากเกินไป ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประชุมหารือเรื่องกฎกระทรวงเกี่ยวกับการฝากและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รับผลกระทบในเรื่องของเงินที่สหกรณ์ที่ลงทุนอยู่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน
ที่เกินความต้องการของสมาชิกในการกู้ ทั้งนี้การแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อเปิดโอกาส ปลดล็อกให้สหกรณ์สามารถลงทุน
ได้เพิ่มเติม โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับสหกรณ์ ซึ่งเรื่องนี้ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว จึงได้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ มาหารือสหกรณ์เพื่อปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนนระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำปีละ 30,000 – 50,000 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยการหารือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และผู้แทนสหกรณ์ได้ข้อสรุปดังนี้ 1) การกำหนดนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจจะพิจารณาเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศรัฐวิสาหกิจที่สหกรณ์สามารถลงทุนเพิ่มเติมได้ 2) ปรับปรุงกฎกระทรวง ข้อ 3 การกำหนดเพดานการลงทุนในนิติบุคคลที่เป็นรัฐวิสาหกิจกับนิติบุคคลอื่น
ให้แยกกัน 3) การกำหนดสัดส่วนเพดานการลงทุนของสหกรณ์ไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองโดยพิจารณาให้นำทุนเรือนหุ้น ทุนสำรอง และเงินรับฝากจากสมาชิก และต้องเป็นเงินที่เหลือจากการบริหารสมาชิกแล้วมาลงทุนได้

“ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของสหกรณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนั้น ในการกำกับดูแลแต่ละสหกรณ์นั้นจะมีคณะกรรมการความเสี่ยง และคณะกรรมการลงทุนดูแลในการพิจารณาเบื้องต้น ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้
ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ และกฎกระทรวง โดยจะวิเคราะห์ทั้งความเสี่ยง และการกระจายตัวในการลงทุนตามเกณฑ์ที่กำหนด และขอยืนยันกับสมาชิกสหกรณ์ว่าเมื่อมีการแก้กฎกระทรวงแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อสมาชิก แต่จะมีผลดีที่จะเกิดขึ้นกับตัวสหกรณ์และสมาชิกเอง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย