สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี ชูจุดแข็งระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งของจังหวัดมีความหลากหลายทางชีวภาพ ในแม่น้ำบางปะกงมีปลานักล่าพื้นถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งปลาอีกง และปลากะพง ถือเป็นปราการหลักสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยให้จังหวัดชลบุรีพบปลาหมอคางดำในปริมาณน้อยและควบคุมได้ พร้อมเดินหน้าร่วมกับเกษตรกรและชาวประมงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และปล่อยปลาพันธุ์ปลากะพงลงในคลองอ้อมใหญ่เสริมความแข็งแกร่งแนวกันชนคุมปลาหมอคางดำ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
จังหวัดชลบุรี นำโดย นายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี ประมงอำเภอพานทอง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน รวมทั้งครูและนักเรียนจากโรงเรียนวัดบางหัก และตัวแทนซีพีเอฟ ร่วมกันปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาวจำนวน 2,000 ตัวลงในคลองอ้อมใหญ่ ( ณ วัดชลธีบุญญาวาส (บางหัก) ต.บางหัก อ.พานทอง เพื่อเพิ่มประชากรปลานักล่าพื้นถิ่น เป็นแนวกันชนป้องกันปลาหมอคางดำในพื้นที่เสี่ยง และเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของจังหวัดชลบุรีให้คงอยู่ต่อไป
นายณัฐพงค์ กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีพบปลาหมอคางดำอยู่ในเฉพาะอำเภอเมือง แต่พบปลาในปริมาณน้อยและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม จังหวัดไม่นิ่งนอนใจยังดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปัจจุบัน สำหรับคลองอ้อมใหญ่เป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกงติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษตรกรสูบน้ำจากคลองอ้อมใหญ่ลงนาข้าว เลี้ยงปูทะเล และปลากะพง การเพิ่มจำนวนปลานักล่าในแหล่งน้ำช่วยเสริมสร้างปราการป้องกันปลาหมอคางดำที่อาจจะหลุดเข้าสู่พื้นที่และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอำเภอพานทองและอำเภอพนัสนิคมอีกด้วย
จังหวัดชลบุรี ยังดำเนินมาตรการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำหลักๆ เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและชาวประมงช่วยกันติดตามและเฝ้าระวัง ตามแนวทาง “เจอ แจ้ง จับ” ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือแจ้งประมงจังหวัดในทันทีที่พบเห็นปลา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาทรัพยากรทางน้ำและสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์น้ำในถิ่นที่อาศัยของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง