‘บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC’ ประกาศแผนกลยุทธ์บุกต่างประเทศ ขยายธุรกิจสู่ประเทศกลุ่มเป้าหมาย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตะวันออกกลาง และ CLMV ที่มีศักยภาพเติบโตสูง จับมือพันธมิตรทางการค้ารุกทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ชูนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) จากศูนย์วิจัย BLC ปั้นผลิตภัณฑ์ไฮมาร์จิ้นส่งนอก รับดีมานด์สมุนไพรพุ่ง ตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศเติบโต 20% ต่อเนื่องทุกปี
ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตสู่ระดับ 1,500 ล้านบาทภายในปี 2566 พร้อมวางเป้าหมายทำอัตรากำไรสุทธิที่ 12% เติบโตจากช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 1.3% 4.7% และ 10.0% ตามลำดับ และได้วางเป้าหมายรายได้จากการส่งออกเติบโต 20% ต่อเนื่องทุกปี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรขั้นต้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตรากำไรสูง การบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ประกอบกับการรักษาระดับต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับคงที่ รวมทั้งการขยายตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม และแถบตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกมีแนวโน้มในการดูแลและป้องกันสุขภาพมากขึ้น โดย Euromonitor ประเมินการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเฉลี่ย 5.7% ในช่วงปี 2021-2025 และ Market Research Future (MRFR) คาดการณ์ว่าตลาดยาสมุนไพรทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 356 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 ที่ 10.9% (CAGR) ในปี 2021 มูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน ทั้งนี้ สินค้าสมุนไพรไทยมีตั้งแต่กลุ่ม อาหารเสริม จนถึงกลุ่มความงามและสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมในตลาด Asia Pacific และมีอัตราการเติบโตโดยประมาณการมากกว่า 9% ต่อปี จากรายงานของ Euromonitor
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และส่งเสริมคุณค่าด้านเศรษฐกิจสมุนไพรไทย ยกระดับระดับด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) สร้างการยอมรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดระดับสากล ผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1) ขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพเติบโตสูง ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนมี GDP รวม 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก จากการมีประชากรรวมกว่า 680 ล้านคน และเป็นประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ปี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการทางด้านสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคุณภาพของสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ จึงมีความน่าสนใจที่จะขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ทำให้ศักยภาพการค้าภายในภูมิภาคสูงขึ้น
นอกจากนี้การมีอาณาเขตของประเทศที่ติดต่อกัน จะเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางต่างๆ ส่งผลให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เจาะกลุ่มตลาดสุขภาพ (Consumer and Personal Health Care) ทั้งวัยทำงานและผู้สูงวัย โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าชั้นนำในแต่ละประเทศ ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านขายยา ร้านค้าปลีก และตลาดออนไลน์ 2) สร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล มุ่งผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดต่างประเทศ ด้วยการวางแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อการส่งออก การคัดเลือกสมุนไพรที่โดดเด่น 5 รายการ ได้แก่ พริก ไพล กระชายดำ ใบบัวบก และว่านหางจระเข้ เพื่อนำเสนอคุณลักษณะเด่นทางด้านนวัตกรรม คุณภาพสินค้า การผลิตที่มีมาตรฐานระดับสากล ตลอดจนการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ทำให้มีการนำใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลายทั้งในโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกแพทย์ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หลักที่ BLC ส่งออกมีความโดดเด่นจากการเป็นผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมสมุนไพร (Herbal Innovation) มีศักยภาพเติบโตสูง และมีอัตราการทำกำไรที่สูง สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ มีการพัฒนาสูตรตำรับโดยทีมวิจัยและพัฒนา จากศูนย์วิจัยของ BLC ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุณภาพของสารสกัด ทำให้ได้สารสกัดสมุนไพรที่สามารถควบคุมปริมาณสารสำคัญให้คงที่และเป็นมาตรฐาน (Standardization) มีคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique quality) อีกทั้งยังสามารถออกใบวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) ของการผลิตแต่ละครั้ง ตลอดจนการผลิตในโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตเช่นเดียวกันกับการผลิตยาแผนปัจจุบัน (GMP/PICs) นอกจากนี้ BLC ยังให้ความสำคัญของการศึกษาด้านประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานของสมุนไพรให้ได้มาตรฐานระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์และผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
“ปัจจุบันการเจ็บป่วยของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการยอมรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของประเทศไทยในภูมิภาค ASEAN และการยอมรับกระบวนการผลิตยาในประเทศไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนศักยภาพการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของร้านยาสมัยใหม่ในภูมิภาคส่งผลให้ดีมานด์ของยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายรายได้เติบโตตามแผนงานที่วางเอาไว้” ภก.สุวิทย์ กล่าว