ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ ม.เกษตรฯ เตือน “หมูเถื่อน“ อันตราย เสี่ยงสารปนเปื้อน สารเร่งเนื้อแดง แนะผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมย้ำ หมูเถื่อน ทำลายความมั่นคงทางอาหารของไทย
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า หมูเถื่อน คือ เนื้อหมูที่นำเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการหรือมาตรการตรวจสอบคุณภาพ แหล่งที่มา การปนเปื้อน ความสะอาด และความปลอดภัย นอกจากไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคแล้วยังไม่รับผิดชอบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ
หมูเถื่อน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและตลาดภายในประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ผลผลิตในประเทศลดลง กระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการเลี้ยงการผลิต มีผลต่อรายได้ของเกษตรกร บั่นทอนความเชื่อมั่นและความสามารถในการผลิต เพราะผู้ผลิตสูญเสียโอกาสและกำไรจากการค้า ไม่มีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนกิจการ ในระยะยาวการผลิตจะหายไป ประเทศไทยจะกลายเป็นเพียงผู้ที่ซื้อมาและขายไป ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
สำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าลักลอบนำเข้าเพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค โดยไม่ใส่ใจถึงความปลอดภัย คำนึงเพียงต้นทุนถูกและได้กำไรสูง ขอให้คิดและคาดหวังถึงผลตอบสนองของลูกค้าในระยะยาวมากกว่าแค่ระยะสั้น เพราะการตัดสินใจอุดหนุนสินค้าลักลอบนำเข้าเพียงไม่กี่ครั้งจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในทางกลับกันหากผู้ประกอบการเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ผลิตในประเทศซึ่งมีความปลอดภัยสูง นอกจากจะช่วยเกษตรกรไทยแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย
ด้านผู้บริโภคจะไม่สามารถแยกได้ว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภค เป็นเนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้าหรือผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงแล้วจะสังเกตได้ยากขึ้น เพราะวิธีการหมัก การปรุง ทำให้เนื้อสัตว์ถูกกลบด้วยกลิ่นเครื่องเทศต่างๆ ผู้บริโภคที่เลือกซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นเนื้อหมูเถื่อนจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร ขณะที่ผู้บริโภคหลายคนมีความเข้าใจผิดว่า หากนำเนื้อสัตว์ไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนจะสามารถทำลายเชื้อโรคและสารปนเปื้อนได้หมด แต่ความจริงไม่สามารถทำลายความเสี่ยงจากสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาด้วย เช่น สารเคมี สารเร่งเนื้อแดง เป็นต้น
รศ.ดร.ศกร แนะวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้
1. สังเกตราคาสินค้าต้องไม่ถูกเกินไปจนผิดปกติ
2. สังเกตที่เนื้อสัตว์ ความสดให้ดูที่สี เนื้อหมูที่ดี มีโครงสร้างใช้นิ้วกดเนื้อจะแน่น ไม่มีรอยบุ๋ม สีไม่ซีดจนเกินไปหรือเขียวคล้ำ มีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่แดงจนเกินไป เพราะอาจมีการใส่สารเร่งสี และไม่มีลักษณะของการฉ่ำน้ำ และไม่มีกลิ่นที่ผิดปกติ
3. สินค้าที่บรรจุแพ็คเกจมาตรฐาน มีการรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหาร มีตราสัญลักษณ์ ตราสินค้า หรือแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ที่มีความน่าเชื่อถือก็สามารถลดความเสี่ยงได้
ขณะที่ผู้บริโภคที่นิยมซื้อเนื้อสัตว์ราคาถูก มากกว่าเลือกคุณภาพและความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในทันที สารปนเปื้อนบางอย่างหากเกิดการสะสมจะกลายเป็นตัวกระตุ้นโรคและปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น มะเร็ง หรือ ระบบย่อยอาหาร ความเสี่ยงเหล่านี้ เป็นต้นทุนที่จ่ายน้อยแต่ต้องจ่ายต่อเนื่องและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมให้ทุกคนนิยมสินค้าราคาแพง แต่ขอให้ตระหนักถึงการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพเพียงพอและมีราคาที่สามารถจ่ายได้อย่างเหมาะสม
รศ.ดร.ศกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องช่วยกันรณรงค์ให้กับผู้บริโภคเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยของเนื้อหมูไทย หรือสินค้านำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็มั่นใจได้ในคุณภาพที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งคุ้มค่าต่อการจ่าย.
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
02-5791120