สภาเอสเอ็มอีชงธปท.ใช้โมเดลจังหวัดปล่อยสินเชื่อSMEs

สภาเอสเอ็มอีเสนอแบ็งค์ชาติแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข Soft Loan 500,000 ล้านบาท ของแบ็งค์ชาติ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐด้วยมาตรการผ่อนปรนพิเศษ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เข้าหารือกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดยนายนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 และผู้บริหารสายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ของแบ็งค์ชาติได้ ได้แก่ SMEs ที่ไม่ได้อยู่ในระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน และ SMEs ที่มีประวัติการค้างชำระและเป็น NPL ซึ่งมีจำนวนกว่า ร้อยละ 90 ของ SMEs ทั้งหมด

นายไชยวัฒน์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจที่สภาเอสเอ็มอีได้ทำการสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า SMEs ที่กว่าร้อยละ 58.6 มีรายได้น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี การจ้างแรงงานร้อยละ 88.34 มีจำนวนระหว่าง 1-50 คน SMEs ส่วนมากอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจการเกษตรที่เป็นซัพพลายเชนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไปเป็นสินค้า ขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่องจนไปถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

ในภาพรวม มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ร้อยละ 74.76 ต้องการเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รองลงมาคือ สิทธิด้านภาษีร้อยละ 55.66 และด้านการตลาดร้อยละ 51.46 ตามลำดับ ซึ่งในแต่ละขนาดธุรกิจมีความต้องการมาตรการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไปตามระดับศักยภาพของธุรกิจโดยอาศัยเกณฑ์รายได้เป็นตัวกำหนด พบว่า

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 18.08 ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 1-5 คน คิดเป็นร้อยละ 74.19 ซึ่ง SMEs กลุ่มนี้จะมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถึงร้อยละ 84.74 ตามด้วยการตลาดและ เทคโนโลยีการตลาด ตามลำดับ

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 1-10 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนร้อยละ 40.52 ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 5-10 คน คิดเป็นร้อยละ 65.47 ซึ่ง SMEs กลุ่มนี้มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถึงร้อยละ 83.06 ตามด้วยการตลาด และสิทธิด้านภาษี ตามลำดับ

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 10-50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.74 ส่วนใหญ่จะมีการจ้างแรงงานจำนวน 10-25 คน (ร้อยละ 44.12) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถึงร้อยละ 70.74 ตามด้วยสิทธิด้านภาษี และการตลาด ตามลำดับ

ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.37 มีการจ้างแรงงาน 25-250 คน (ร้อยละ 76.92) มีความต้องการความช่วยเหลือด้านการนำเข้าส่งออกเป็นออันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 69.44 ตามด้วยสิทธิทางด้านภาษี (ร้อยละ 63.89) และเข้าถึงแหล่งเงินทุน (41.67) ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการแรงงานไทยในอัตราร้อยละ 36.11 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความต้องการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

บทสรุปของแบบสำรวจ เสนอว่า รัฐควรมีข้อมูลในการแบ่งระดับศักยภาพของ SMEs และให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่เป็นต้นน้ำของระบบซัพพลายเชนที่จะพลวัตขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามกันไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งกลุ่มธุรกิจการเกษตรส่วนใหญ่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท (ร้อยละ 57.89) มีการจ้างแรงงาน 1-5 คน ร้อยละ 47.37 มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนร้อยละ 94.44 ส่วนกลุ่มวิสาหกิจที่มีระดับศักยภาพสูงที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น เช่น มาตรการด้านภาษี และด้านแรงงาน รัฐควรมีการศึกษาและจัดสรรให้ตรงตามความต้องการต่อไป

นายไชยวัฒน์ กล่าวสรุปเป็นข้อเสนอว่า “ด้วยกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในปัจจุบัน เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ และมีแนวโน้มว่าวงเงินนี้จะปล่อยไม่หมด ด้วยการให้คณะกรรมการระดับจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) ในการกำกับดูแลกระบวนการคัดกรอง SMEs ในระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ด้วยเงื่อนไขแบบผ่อนปรนพิเศษ โดยมีองค์การภาคเอกชนรวบรวมและรับรองรายชื่อสถานประกอบการส่งเข้ามา เพื่อขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงินรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้รักษาการจ้างแรงงานและประกอบธุรกิจต่อไปได้”

WC รายงาน