กทม.จัดเก็บกระทงปี2567ยอดลดลง20%ใช้วัสดุธรรมชาติ98.39%ลอย’รักษ์โลกผ่านออนไลน์+ดิจิทัล4.7หมื่นใบ

กรุงเทพมหานคร ลุยจัดเก็บกระทงในเทศกาลลอยกระทง 2567 ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีจำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 506,320 ใบ กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 8,270 ใบ ปลื้มจำนวนกระทงทั้งหมดลดลงจากปีก่อน 125,238 ใบ เผยในพื้นที่กรุงเทพฯ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน มีการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีในพื้นที่ต่าง ๆ รวมมากกว่า 140 แห่ง ตั้งเป้าปี 2568 คาดหวังการลอยกระทงโฟมให้เป็น 0 %

16พ.ย.67/ เมื่อคืนวันที่ 15 พ.ย. เวลา 21.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer: CSO) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ไอออกตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร (ใต้สะพานพระปกเกล้า) ก่อนสำนักสิ่งแวดล้อมจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

นายพรพรหม กล่าวว่า ปีนี้ กทม. พยายามรณรงค์ให้การลอยกระทงด้วยโฟมเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ โดยปีที่แล้วมีสถิติการลอยกระทงโฟมกว่า 600,000 ใบ และหวังว่าปีนี้จะลดลง เนื่องจากในปีนี้ กทม. มีการจัดงานลอยกระทงดิจิทัล 3 แห่งใหญ่ คือ สวนสันติภาพ เขตดินแดง สกายวอล์กระหว่าง MBK กับ Siam Discovery เขตปทุมวัน และลานคนเมือง เขตพระนคร รวมถึงการจัดกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้กระทงจากขนมปัง เนื่องจากทำให้สัตว์น้ำและปลาตายได้ สำหรับในส่วนของการจัดเก็บกระทงนั้น กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ แบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้

สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 185 คน เรือเก็บขยะจำนวน 40 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ ประกอบด้วย เรือไฟเบอร์กลาส 34 ลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถทั้งหมด 13 คัน ประกอบด้วย รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน กระทงที่จัดเก็บได้ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลำเลียงขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ โดยจะแยกเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปบดย่อย และนำส่งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม

ส่วนกระทงที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น โฟม จะนำไปฝังกลบ ในส่วนของกระทงที่จัดเก็บได้ในพื้นที่อื่น ๆ เจ้าหน้าที่จะจัดเก็บไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจะปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

นายพรพรหม กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ 3 แห่งในคืนนี้พบว่ามีประชาชนจำนวนมากร่วมลอยกระทงดิจิทัล ส่วนการลอยกระทงออนไลน์ ณ ช่วงเวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 15 พ.ย.2567 มีการเข้าร่วมกิจกรรมประมาณกว่า 20,000 กระทงแล้ว ซึ่งแนวโน้มการจัดกิจกรรมลอยกระทงดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าปีที่แล้วมีเพียง 1 แห่ง แต่ในปีนี้มีการจัดกิจกรรมถึง 3 แห่ง และมีภาคเอกชนให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าประชาชนให้ความสนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมากทุกเพศทุกวัย

นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับคำชื่นชมเรื่องการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากการลอยกระทงขนมปังอีกด้วย สำหรับภาพรวมขณะนี้พบว่ามีการจัดเก็บกระทงธรรมชาติได้จำนวนมากกว่ากระทงโฟม โดย กทม. จะรวบรวมสถิติกระทงที่จัดเก็บได้ทั้งหมดของค่ำคืนนี้รายงานผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” ภายในเวลาไม่เกิน 08.00 น. ของเช้าวันพรุ่งนี้

ทุกภาคส่วนร่วมใจสืบสานประเพณี กว่า 140 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ งานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน มีการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีในพื้นที่ต่าง ๆ รวมมากกว่า 140 แห่ง เช่น งานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพฯ ประจำปี 2567 ณ คลองคูเมืองเดิมคลองหลอด เขตพระนคร งานมนต์เสน่ห์ 4 ภาค ลอยกระทงบริเวณคลองเปรมประชากร ณ ลานอเนกประสงค์ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ตั้งแต่เวลา 05.00 – 24.00 น. โดยรณรงค์ขอความร่วมมือใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ งดการนำกระทงที่ทำจากขนมปังและโฟมเข้ามาลอยในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของบึงน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เพราะกระทงขนมปังเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บมากที่สุด เปื่อยยุ่ยง่าย บางชนิดใช้สีที่เป็นอันตรายต่อปลา และเมื่อขนมปังจมลงสู่ก้นสระจะทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิด และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะจากกระทง กรุงเทพมหานครชวนลอยกระทงแบบรักษ์โลก มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน 1 กลุ่ม 1 ครอบครัว 1 กระทง

รองปลัดฯ ชาตรี สุ่มตรวจเยี่ยมจุดลอยกระทงในสวนสาธารณะ กทม.

ขณะเดียวกันของคืนวันที่ 15 พ.ย.2567 เวลา 18.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมจุดลอยกระทงในสวนสาธารณะ กทม. ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ประกอบด้วย สวนลุมพินี เขตปทุมวัน สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย และอุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย โดยเน้นความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกประชาชน เนื่องจากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ

รองปลัดฯ แสนยากร เปิดงานสืบสานประเพณีลอยกระทง ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

ส่วนในเวลา 18.30 น. นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2567 เพื่อขอขมาแด่พระแม่คงคา และรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดประกวดกระทง การแต่งกายย้อนยุค การแสดงจากโรงเรียน ชุมชนในเขตพื้นที่ และกิจกรรมต่าง ๆ บนเวที โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตบางเขน ผู้บริหารสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมเขตบางเขน สภาวัฒนธรรมเขตสายไหม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน

กทม. จัดเก็บกระทง ปี 67 ยอดลดลง 20% ใช้วัสดุธรรมชาติ 98.39%

ด้านนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ สำหรับสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณที่จัดงานภายในพื้นที่เขต โดยเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย. 67 แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (16 พ.ย. 67)

สำหรับในปี 2567 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 506,320 ใบ คิดเป็นร้อยละ 98.39 กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 8,270 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.61 สำหรับจำนวนกระทงทั้งหมดลดลงจากปีก่อน 125,238 ใบ คิดเป็นร้อยละ 19.57 โดยสถิติปี 2566 จัดเก็บกระทงได้ 639,828 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 618,951 ใบ และกระทงโฟม 20,877 ใบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทง จำนวน 36,832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10,885 ใบ

ลอยกระทงปีนี้มีการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือ จากร้อยละ 96.74 เป็น 98.39 ส่วนกระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 3.26 เป็น 1.61 โดยเขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง จำนวน 20,806 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด ได้แก่ เขตคลองสาน จำนวน 147 ใบ

ส่วนด้านสวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนใช้บริการรวมทั้งสิ้น 255,532 คน จำนวนกระทงที่เก็บได้ 96,508 ใบ คิดเป็นจำนวนสัดส่วนประชากรต่อจำนวนกระทง 3 คนต่อ 1 ใบ

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน