เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโล่งใจ“พาณิชย์”อัดงบช่วยรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังปี67/68 งบประมาณ 368.90 ล้านบาท

“สุชาติ ชมกลิ่น” แจงเดินหน้า 4 โครงการช่วยเหลือมันสำปะหลัง “เพิ่ม” มูลค่า “ลด” ต้นทุนการผลิต ย้ำ!พาณิชย์ลุยตลาดขยายส่งออก เร่งช่วยเกษตรกร

24 ก.พ.2568/ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทู้ถามของท่านเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นราคามันสำปะหลัง ว่า “กระผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงประเด็นต่อท่านสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนอื่นขอเรียนท่านว่า ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกพืชทุกชนิด ไม่ใช่แค่มันสำปะหลัง รัฐบาลจึงได้ระดมความคิด และทรัพยากรต่างๆ เพื่อหาแนวทางเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

“ในประเด็นราคามันสำปะหลัง รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมาโดยตลอด โดยเฉพาะการส่งออก ที่ผ่านมาระหว่างปี 2564 – 2566 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปริมาณ 8 – 10 ล้านตัน โดยเป็นตลาดจีนสูงถึง 99% แต่ตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจึงมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ลดลง และเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไทยลดลงเหลือ 6.46 ล้านตัน และส่งผลให้ราคาแอลกอฮอล์และมันเส้นในตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยราคาหัวมันสดเชื้อแป้ง 25%

คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 67/68 จำนวน 4 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 368.90 ล้านบาท เพื่อดึงอุปทานในช่วงออกสู่ตลาดมาก สร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิต ดังนี้

  1. ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง วงเงิน 300 ล้านบาท เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ 3% ต่อปี ตามระยะเวลาเก็บสต๊อก 60 -180 วัน ระยะเวลาเก็บสต็อก 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 68 ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 112 ราย ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ
  2. ชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร รวบรวมมันสำปะหลัง วงเงิน 17.5 ล้านบาท เป้าหมาย 2 แสนตัน ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อรับซื้อมันสำปะหลังในอัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี (สถาบันเกษตรกร 1% รัฐบาลชดเชยให้ ธ.ก.ส. 3.50%)
  3. สนับสนุนการแปรรูปหัวมันสำปะหลังเป็นมันเส้น วงเงิน 10 ล้านบาท โดยสนับสนุนเครื่องสับมันขนาดเล็ก เป้าหมาย 650 เครื่อง เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท ให้กลุ่มเกษตรกรนำไปแปรรูปเป็นมันเส้นได้ด้วยตนเอง และจำหน่ายแก่ผู้ซื้อโดยตรงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากหัวมันสดเป็นมันเส้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (ราคาหัวมันสด 2.00 บาท/กก. ถ้าแปรรูปเป็นมันเส้น 5.50 บาท/กก.)
  4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 67/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ระบบน้ำหยด วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% เป้าหมาย 3,000 ราย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ย MRR (6.975%) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี”

“ในส่วนของการแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกมันเส้น กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าขยายตลาดส่งออกโดยการลงนาม สัญญาซื้อขาย และทำ MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าของประเทศจีนแล้ว รวมทั้งสิ้น 980,000 ตัน (คิดเป็นหัวมันสด 2.96 ล้านตัน) มูลค่ารวม 8,803.95 ล้านบาท ทั้งนี้ตั้งแต่ลงนาม MOU พบว่า ในช่วงเดือน มกราคม – ปัจจุบัน มีการขออนุญาตส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เฉพาะในส่วนของมันเส้นและมันอัดเม็ดแล้วรวมกว่า 870,000 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 5,333 ล้านบาท และเพิ่มการใช้ภายในประเทศ โดยผลักดันให้ภาคปศุสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ พบว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ได้มีการใช้มันเส้นมาผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2567 ถึง 15% และจะเพิ่มขึ้นอีก 15% ในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 68 นี้”นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า “นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการตลาดโดยเปิดจุดรับซื้อเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการรับซื้อในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขายผลผลิตในราคาต่ำกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากผลผลิตออกกระจุกตัว และผู้ประกอบการมีไม่เพียงพอรองรับผลผลิต โดยการดึงผู้ผลิตจากนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อและรัฐบาลสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ประกอบการที่เข้าไปรับซื้อไม่เกินตันละ 500 บาท เป้าหมายรวมทั่วประเทศ 2 แสนตัน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่จะได้รับราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไปตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 ถึงปัจจุบัน ได้เปิดจุดรับซื้อในจังหวัดกาญจนบุรี และนครสวรรค์ โดยมีผู้ประกอบการจากจังหวัดนครราชสีมา และ ชัยภูมิ โดยมีเกษตรกรมาขายผลผลิตแล้ว 2,222 ราย ผลผลิต 11,989 ตัน และอยู่ระหว่างประสานการเปิดจุดเพิ่มเติมในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจมากเนื่องจากขายได้สูงกว่าราคาตลาด ที่เชื้อแป้ง 25% ในราคา 2.05 – 2.10 บาท/กก. ในขณะที่ราคาตลาดทั่วไป อยู่ที่ราคา 1.60-1.70 บาท/กก.”

“จากการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ทั้งการผลักดันส่งออก เพิ่มการใช้ภายในประเทศและเพิ่มการแข่งขันรับซื้อในพื้นที่ที่มีปัญหาทางด้านราคาส่งผลให้ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรจำหน่ายได้ไม่ลดต่ำลงไป โดยราคามันเส้นเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ราคา 6.10 – 6.44 บาท/กก. สูงขึ้น จากเดือนธันวาคม 2567 ที่ 5.40 – 5.60 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 14%) ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหัวมันสดที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีแนวโน้มที่จะขยับสูงขึ้นในอนาคตรัฐบาลให้ความสำคัญมันสำปะหลังในฐานะพืชเศรษฐกิจของไทย” นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดจัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก (WTC 2025) ที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพของไทยในฐานะผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก และเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายมันสำปะหลังโดยตรง เพิ่มช่องทางการตลาดแบบเชิงรุก ช่วยลดภาวะการขายตัดราคากันเอง และช่วยผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไทย ไปสู่ตลาดเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยทั้งระบบ

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน