กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดงาน “วันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563” ภายใต้แนวคิด“ป่าไทยไม่ไร้เสือ Roar for Thai Tigers” วันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ณ หอศิลป กทม.
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าวประจำสัปดาห์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อการจัดงาน “วันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563” ร่วมด้วยนายสมปอง ทองศรีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เวลา 10. 00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร กริตสามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กทม.
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันเสือโคร่งโลก และในปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 10ปี ที่การประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ได้มีมติให้มีการรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่งทุกวันที่ 29 กรกฎาคม
อีกทั้งยังครบรอบการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งแรก ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้แทนจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ร่วมประกาศเจตนารมย์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูประชากรเสือ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2565
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงกำหนดจัดงาน “วันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563” (Global Tiger Day 2020) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers” ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS)ประเทศไทย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย เป็นต้น ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอนุรักษ์เสือโคร่งที่บริเวณ ผนังโค้ง ชั้น 5
สำหรับพิธีเปิดงานจะมีขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานในเวลา 14.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม พร้อมกับร่วมเสวนาในหัวข้อ “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers”โดยมี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเรื่องเสือโคร่ง และ เต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ นักแสดงชื่อดังและนักกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ จะมาร่วมพูดคุยถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย จากนั้นร่วมรับฟังเสวนาเวทีย่อย “tiger talk” ขององค์กรร่วมในหัวข้อ “อนาคตเสือโคร่งไทย อนาคตเสือโคร่งโลก”
ทั้งนี้ นิทรรศการที่จัดแสดงบริเวณแนวโถงชั้น 5 นั้น สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 แบ่งเป็น 4 โซน โดยโซนที่ 1 เป็นข้อมูลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์เสือโคร่ง 6 หัวข้อ ได้แก่
1. ด้านงานวิจัยเสือโคร่ง : หัวใจแห่งการเรียนรู้เสือโคร่ง 2. ด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ : หัวใจแห่งการปกป้องเสือโคร่ง
3. ด้านการจัดการสัตว์กีบขนาดใหญ่ : หัวใจแห่งการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง 4. ด้านนโยบาย : หัวใจแห่งการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์เสือโคร่ง 5. ด้านงบประมาณ : หัวใจแห่งการสนับสนุนงานอนุรักษ์เสือโคร่ง และ 6.ด้านการมีส่วนร่วม : หัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน โซนที่ 2 เป็นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) ซึ่งผู้มาร่วมงานในวันที่ 29 กรกฎาคม สามารถถ่ายรูปจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera trap) ได้ในจุดนี้
โซนที่ 3 เป็นการนำเสนอประชากรเสือโคร่งผ่านแผนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแผนที่ประเทศไทยโซนที่ 4 เป็นโซนนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง กว่า 30 ภาพ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เสือโคร่งในครั้งนี้
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรเสือโคร่งของโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าไม่เกิน 3,500 ตัว ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 100-150 ตัว โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยปัจจัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของประชากรเสือโคร่งมีสาเหตุจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า และเก้ง รวมทั้งการลักลอบล่าเสือโคร่ง
ส่วนแนวทางการจัดการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบของประเทศไทย มีการดำเนินงานในระดับนโยบายและระดับนานาชาติในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ได้แก่
(1) การคุ้มครองเสือโคร่งโดยให้เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย
(2) การคุ้มครองแหล่งอาศัยของเสือโคร่งโดยการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมาย
(3) การเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวกับงานป้องกันรักษาเสือโคร่ง สัตว์ที่เป็นเหยื่อและถิ่นอาศัย โดยได้สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานในการป้องกันและปราบปราม โดยได้นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) มาใช้เพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่าและปกป้องทรัพยากรป่าไม้
(4) การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการตรวจติดตามความเคลื่อนไหวของพรานล่าสัตว์ป่า และการลักลอบกระทำผิดในพื้นที่อาศัยที่สำคัญอย่างเป็นระบบ
(5) การสร้างระบบการตรวจวัดสถานภาพของประชากรเสือโคร่งและเหยื่ออย่างต่อเนื่องในพื้นที่กลุ่มป่าที่มีความสำคัญ และการจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลอัตลักษณ์ของลายเสือโคร่งในธรรมชาติ
(6) การจัดการและปรับปรุงแหล่งอาศัยให้มีสภาพเหมาะสมและการฟื้นฟูประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งในธรรมชาติ โดยมีโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่มีเสือโคร่งกระจายอยู่
(7) การศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ ที่มีในพื้นที่ประชากรต่ำและพื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยเดิม
(8) การสร้างความเข้มแข็งให้มีความร่วมมือในการอนุรักษ์และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ
(9) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการเสริมสร้างความรู้สู่ชุมชน โดยได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในพื้นที่และรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน