กมธ.ศาสนาฯ เข้าตรวจสอบโบสถ์วัดปราสาท ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.บางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรีพยความชื้นสูงส่งผลให้จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์มหาอุตม์เกิดการชำรุดเสียหาย ประสานกรมศิลปากรเข้าแก้ไข นำ IoT ดูแลรักษาโบราณสถาน หลังชาวบ้านร้อง กมธ.ศาสนาฯ
30 ก.ค.63 / ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าได้รับการร้องเรียนจาก นางสาวชญาณิศวร์ ชินรัชตะเศรษฐ์ ว่ามีผนังวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังทรุดโทรมควรเร่งทำการฟื้นฟู ที่วัดปราสาท ถ.บางกรวย – ไทรน้อย ต.บางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
วัดปราสาทรับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ สันนิษฐานว่า “วัดปราสาท” สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะอุโบสถเป็นแบบมหาอุตม์ มีผนังพระอุโบสถ งดงาม แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยความชื้นจากใต้ฐานโบสถ์ที่มีมาก ทำให้ความชื้นส่งผลให้ผนังโบสถ์ผุ โดยพระมหานที ธัมมะธีโร เจ้าอาวาสวัดปราสาท กล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เข้ามาตรวจสอบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2562 พร้อมเก็บข้อมูลเบื้องต้นไปแล้ว
ด้าน ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าในเบื้องต้นได้หารือกับนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า ทางกรมศิลปากรได้ทำการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องด้วยเป็นอุโบสถวัดปราสาทเป็นโบสถ์แบบมหาอุตม์คือไม่มีหน้าต่าง ทำให้ความชื้นใต้ดินดันขึ้นมาจำนวนมากส่งผลให้ภายในอุโบสถมีความชื้นสูง
ทั้งนี้นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้มีกระบวนการเพื่อรักษาโบสถ์วัดปราสาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ล่าสุดสำนักศิลปากรที่ 2 ได้ใช้เทคนิค” ตัดพื้น” คือทำการกั้นแผ่นสเตนเลสขนาดบาง กั้นระหว่างชั้นผนังชั้นตอนบนกับฐานโบสถ์และติดตามเฝ้าดูผล หากยังไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาการดูแลรักษาในขั้นต่อไป
ขณะเดียวกัน ดร.สุวุฒิ ตุ้มทอง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.สมพร ศรีวัฒนพล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ ได้รุดไปยังวัดปราสาทโดยนำอุปกรณ์วัดความชื้น IoT BigData นำไปวัดตามจุดต่างๆ บริเวณรอบโบสถ์วัดปราสาท พบว่ามีความชื้นสูง โดยคณะทำงานจะนำข้อมูลไปศึกษา และหารูปแบบที่นำมาช่วยลดความชื้นให้วัดปราสาท ในแบบมาตรฐานสากล ที่ไม่ส่งผลเสียกับโบราณสถาน
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน