ตลาดอาหารปลอดภัยเริ่มแล้ว

กระทรวงเกษตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำ MOU หนุนวิจัยและการพัฒนาเพิ่มศักยภาพพื้นที่ตลาดอาหารปลอดภัย

14ม.ค.64/ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารสนเทศ 50 ปีนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร AIC เป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างหน่วยงานกระทรวงเกษตรละสหกรณ์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานพันธมิตร “กรมประมง- กรมปศุสัตว์-กรมส่งเสริมการเกษตร” ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาศักยภาพพื้นที่ตลาดอาหารเกษตรปลอดภัย ยึดทำเลใน มก.บางเขน ติดแนวถนนวิภาวดีรังสิต ให้เป็น Market Place ในนามศูนย์ AIC  กรุงเทพมหานคร ไว้รองรับผลผลิต และสินค้าจากนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านอาหารและการเกษตร คาดจะเริ่มภายในนไตรมาสแรกของปี 64 เน้นสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานอินทรีย์ และมาตรฐานฮาลาล ให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งในระบบ Offline และ Online  ตามนโยบาย Thailand 4.0

อย่างไรก็ตาม พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร AIC เป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ผู้ลงนามประกอบด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ที่รับอาสาเป็นรายแรกที่จะขับเคลื่อนในการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ตามแนวคิดของ AIC เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารไปยังตลาดโลกเป็นอันดับที่ 11 เติบโดแบบก้าวกระโดด ทั้งอาหารที่มาจากพืช การประมง และปศุสัตว์ ดังนี้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องการขับเคลื่อน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพอาหารปลอดภัย และส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าเกษตรทุกประเภท ด้วยการเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานอินทรีย์ และมาตรฐานฮาลาล ให้ได้มีพื้นที่ขายอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้ง Offline และ Online อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรในระดับสากล ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัย การผลิต และงานอื่นๆที่ทุกฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารศูนย์ AIC กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า AIC (Agritech and Innovation Center) หรือ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นศูนย์กลางให้บริการ อบรมบ่มเพาะเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญาด้านการเกษตร นวัตกรรมทางการเกษตร ผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุนการแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และเกษตรกร เข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีพื้นที่ขายผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งในระบบ Offline และ Online รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของประเทศในระดับนานาชาติ

“ ผมมีความตั้งใจ ที่จะผลักดันทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน  ดังนั้น ศูนย์ AIC กรุงเทพมหานคร จึงทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาการผลิต และการแปรรูป ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการรับรองจากมาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานอินทรีย์และมาตรฐานฮาลาล ควบคู่ไปกับส่งเสริมการตลาดให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและต่างประเทศ ” ดร.จงรัก กล่าว

ส่วนนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมประมงจะเน้นเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าประมงให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยทั้งสินค้าที่มาจากการเพาะเลี้ยงและจากการจับสัตว์น้ำ ร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเพื่อให้เกษตรกรมีตลาดที่รองรับสินค้าประมงอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย และพัฒนาเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ทั้งในด้านวิชาการ ด้านการผลิต และด้านการตลาด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรรู้สึกยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าถึงความร่วมมือครั้งนี้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาการผลิตและจัดการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่ เพื่อเพิ่มปริมาณ ประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงการตลาดให้กับสินค้าการเกษตร

ทั้งนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 4 หน่วยงาน มีความพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรด้วยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรประเทศไทย โดยมีแผนพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณแนวถนนวิภาวดีรังสิต ให้เป็น Market Place พื้นที่รองรับผลผลิต และสินค้าจากนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านอาหารและการเกษตร ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2564

จากนั้นจะมีการทำ Sandbox บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS ถนนพหลโยธิน เพื่อให้เกษตรกรได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีช่องทางกระจายสินค้าและบริการ ยกระดับเกษตรกรให้มีมาตรฐานในการผลิตอาหารปลอดภัย ควบคู่ไปกับส่งเสริมการตลาดให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน