กรมวิชาการเกษตร ส่งมันเทศพันธุ์พิจิตร 2 ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแป้ง ปลื้มพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง แป้งสูง แถมขนาดหัวใหญ่ตรงความต้องการโรงงาน เผยปี 62 ปั๊มยอดพันธุ์กว่า 5 แสนยอด ขยายผลปลูกต่อในพื้นที่เกษตรกรได้ถึง 27 ไร่
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มันเทศเป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของโลก ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้ง และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล จะเห็นได้ว่ามันเทศเป็นทั้งพืชอาหารและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันเทศ ซึ่งพันธุ์มันเทศสำหรับเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ต้องเป็นพันธุ์เนื้อสีขาว ให้ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์แป้งมากกว่าร้อยละ 10 แต่เนื่องจากมันเทศที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมันเทศเพื่อการบริโภคสด มีปริมาณแป้งค่อนข้างต่ำ และปริมาณน้ำตาลสูงไม่เหมาะสมที่จะนำไปผลิตเป็นแป้งมันเทศ
เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มันเทศสำหรับอุตสาหกรรมแป้ง ตั้งแต่ปี 2554-2560 โดยปี 2554 ทำการผสมพันธุ์มันเทศ ใช้พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาวสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ 9 พันธุ์ ปี 2555 ทำการคัดเลือกพันธุ์และคัดเลือกสายต้นที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ หัวมีขนาดใหญ่ เนื้อสีขาว ผิวเรียบ และน้ำหนักแห้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ปี 2556 ทำการเปรียบเทียบพันธุ์มันเทศ ปี 2557-2558 ทดสอบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปี 2559-2560 ทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และในปี 2562 เสนอรับรองพันธุ์โดยคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เห็นชอบให้ตั้งชื่อมันเทศพันธุ์ใหม่นี้ว่า “มันเทศพันธุ์พิจิตร 2”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 มีลักษณะเด่นตามที่ต้องการ คือ ให้ผลผลิตสูงถึง 3,617 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์เกษตรกรซึ่งให้ผลผลิต 2,676 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตแป้ง 846 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกรซึ่งให้ผลผลิตแป้ง 624 กิโลกรัมต่อไร่ มีปริมาณขนาดหัวที่โรงงานต้องการสูงโดยมีขนาดหัวร้อยละ 86.2 ของน้ำหนักรวม ซึ่งในปี 2562 นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร มีแปลงแม่พันธุ์พร้อมที่จะขยายยอดพันธุ์ต่อได้ตลอด โดยสามารถผลิตยอดพันธุ์ได้ถึง 150,000 ยอด ปลูกได้จำนวนพื้นที่ 27 ไร่ เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร.0-5699-0040