กรมวิชาการเกษตร ชูอันชัญพันธุ์ใหม่ “เทพรัตน์ไพลิน 63 “ คุณสมบัติเด่นเกินคาดให้สารสำคัญแอนโทไซยานินช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สูง กลีบดอกใหญ่ 5 กลีบซ้อนเวียน สม่ำเสมอในต้นเดียวกัน ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป แถมเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า 6 วัน สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรส่งออกเกาหลีแปรรูปเป็นชา
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า อัญชัน เป็นพืชที่ออกดอกเกือบตลอดปี อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพืชที่มีการผสมตัวเอง แต่ในธรรมชาติมักพบมีการผสมข้ามสายพันธุ์โดยแมลงสูงมาก จึงทำให้มีการกระจายตัวทางพันธุกรรม โดยอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไปพบมีความแปรปรวนทางพันธุกรรม ทำให้ ลักษณะกลีบดอกไม่สม่ำเสมอ โดยมีกลีบดอกตั้งแต่ 3-5 กลีบปะปนในต้นเดียวกันและมีทั้งซ้อนและไม่ซ้อนกัน ทำให้ได้ผลผลิตและสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารสำคัญช่วยต้านอนุมูลอิสระ และชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอัญชัญไม่คงตัวและไม่สม่ำเสมอ
เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ในปี 2554 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการปรับปรุงอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป โดยปลูกและคัดเลือกอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป ใช้การคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ ทำการคัดแยกเป็นสายพันธุ์ โดยคัดเลือกต้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเร็ว ผลผลิตสูง ลักษณะดอก มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ซ้อน และให้ปริมาณแอนโทไซยานินรวมสูงสุด หรือไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม และปลูกทดสอบพันธุ์ร่วมกับพันธุ์ปลูกทั่วไปในแปลงของเกษตรกร เพื่อให้ได้อัญชันพันธุ์แท้ที่มีความสม่ำเสมอของลักษณะดอก และให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไปอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปรับปรุงพันธุ์อัญชัญประสบความสำเร็จได้อัญชัญพันธุ์ใหม่เสนอเป็นพันธุ์พืชแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ใช้ชื่อว่า “อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 ”โดยมีลักษณะเด่นตามที่ต้องการ คือ ให้ผลผลิตดอกสดสูงถึง 2,122 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป และยังเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกได้เร็วกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 6 วัน มีปริมาณแอนโทไซยานินรวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม และลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ ลักษณะดอกมีกลีบดอกใหญ่ 5 กลีบซ้อนเวียน ซึ่งการมีจำนวนกลีบดอกที่เท่ากันและมีความสม่ำเสมอในต้นเดียวกัน จะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มน้ำหนักดอก ในขณะเดียวกันถ้าจำนวนกลีบดอกไม่เท่ากัน น้ำหนักแต่ละดอกก็จะต่างกัน ผลผลิตโดยรวมก็จะไม่คงตัวและทำให้ได้ผลผลิตไม่คงที่
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรได้นำไปปลูกแล้วหลายจังหวัด โดยเมล็ดพันธุ์คัด 2 กิโลกรัม ถ้าปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ 10 ไร่ สามารถผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์หลักได้ 1,000 กิโลกรัม เมื่อนำเมล็ดพันธุ์หลักไปปลูกต่อสามารถผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยายได้ 500 ตัน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนการเกษตรพิจิตร ได้ให้คำแนะนำการปลูกแก่เกษตรกรในกรณีปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ตรงตามพันธุ์ และเพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยปลูกให้มีระยะห่างจากพันธุ์อื่น เพื่อป้องกันการผสมข้ามโดยแมลง ซึ่งจะทำให้เมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อมีความแปรปรวนได้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรได้นำอัญชัญพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรไปปลูกขยายเป็นการค้าโดยส่งออกดอกอัญชัญไปประเทศเกาหลีเพื่อนำไปแปรรูปเป็นชา ถือเป็นการสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง เกษตรกรที่สนใจพันธุ์อัญชัญเทพรัตน์ไพลิน 63 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร.0-5699-0035