ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แม่น้ำเจ้าพระยาป่วน เจอน้ำเค็มทะลักเข้าสถานีสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี พบความเค็มเกินมาตรฐาน 0.92 กรัม/ลิตร กรมชลประทานสั่งด่วนเร่งเพิ่มระบายแม่น้ำป่าสัก ผ่านเขื่อนพระราม 6 พร้อมผันน้ำแม่กลอง มาช่วยผลักดันค่าความเค็มลุ่มเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำและเฝ้าระวังอย่างเต็มกำลัง ควบคุมน้ำเค็ม 4 แม่น้ำสายหลัก
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกิดน้ำทะเลหนุน ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย กรมชลประทาน จึงวางแผนและดำเนินการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การลำเรียงน้ำจากคลองและแม่น้ำสายหลัก เร่งผลักดันน้ำเพื่อลดค่าความเค็มและผลกระทบด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจากการสำรวจพบว่า ในวันที่ 16 ธ.ค. 62 ช่วงเวลา 13.30 – 17.30 น. ในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดลิ่มความเค็มรุกตัวเพิ่มขึ้นจากน้ำทะเลหนุนสูง หลังจากนั้น ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 22.30 น. แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี มีค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 0.92 กรัมต่อลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปาที่ 0.50 กรัมต่อลิตร นั้น
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่ากรมชลประทาน ไม่นิ่งนอนใจเร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเร่งด่วน โดยในวันนี้(17 ธ.ค. 62 เวลา 06.00 น.) แม่น้ำป่าสัก ได้เพิ่มอัตราการระบายที่เขื่อนพระรามหก จากเดิม 5ลบ.ม./วินาที เป็น 15 ลบ.ม./วินาที
อีกทั้ง ใช้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาสนับสนุน โดยทำการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่าน 3 คลองหลัก เชื่อมมายังแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ คลองจรเข้สามพัน ลำเลียงน้ำผ่านประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ในอัตราไม่น้อยกว่า 25 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำท่าจีน และใช้เครื่องสูบน้ำช่วยสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ซึ่งจะต้องรักษาระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ให้สามารถสูบน้ำเข้าคลองพระยาบรรลือได้ ซึ่งควบคุมให้มีอัตราการไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่น้อยกว่า 30 ลบ.ม./วินาที
“เพิ่มอัตราการระบายน้ำที่เขื่อนพระรามหก จาก 5 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 15 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่ 06.00 น. ของวันนี้ พร้อมกับประสานการประปานครหลวง( กปน.)ในการลําเลียงน้ําเพื่อควบคุมค่าความเค็ม ประกอบกับติดตั้งเครื่องสูบน้ําเพิ่มเติมที่บริเวณ ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ําในคลองพระบรรลือ โดยสำนักงานชลประทานในพื้นที่ ควบคุมกํากับในการลําเลียงน้ําผ่านคลองพระยาบรรลือสู่ แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 30 ลบ.ม.ต่อวินาที และควบคุมกํากับให้มีการระบายน้ําผ่าน ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ไม่น้อยกว่า 25ลบ.ม.ต่อวินาที “นายทวีศักดิ์ กล่าว
ทางด้านคลองประปา ลำเลียงปริมาณน้ำมาลงยังคลองปลายบาง โดยผ่านคลองประปาและคลองมหาสวัสดิ์ ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองท่าสาร-บางปลา ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำคลองจินดา เพื่อควบคุมค่าความเค็มสำหรับกล้วยไม้ ไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร
ทั้งนี้การดำเนินการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะต้องควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้านค่าความเค็ม ของแม่น้ำทั้ง 4 สาย (แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง) และด้านการลำเลียงน้ำ ให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบและสามารถดำเนินกิจกรรมการใช้น้ำ เช่น การผลิตประปา ได้ตามปกติ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ใช้น้ำตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถลำเลียงน้ำไปยังจุดหมายได้ตรงตามแผนฯ ที่วางไว้ เพื่อเร่งผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(17 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 45,098 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,625 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (17 ธ.ค. 62) มีจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 74 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 60 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 46 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 9 ล้าน ลบ.ม. ,
อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกัก 511 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำ-ลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 20 ล้าน ลบ.ม. ,
อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 269 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของ ความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 266 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 20 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯเป็นน้ำใช้การได้ 22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 115 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 85 ล้าน ลบ.ม.
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าว จะเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศ ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ของแต่อ่างฯเท่านั้น จึงขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดมากที่สุด โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขอให้ปฏิบัติตามแผนการสูบน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมถึงการผลักดันค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ตลอดฤดูแล้งนี้
ส่วนสภาพน้ําในอ่างเก็บน้ําขนาดกลางจํานวน 412 แห่ง ณวันท่ี 17 ธ.ค. 62 แบ่งได้ ดังนี้ อ่างเก็บน้ําขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% มีจํานวน 87 แห่ง อ่างที่มีปริมาณน้ํามากกว่า 30 – 50% มี85แห่ง และที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 50 – 80% มี153แห่ง และมากกว่า80% มี 97แห่ง
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน