วันนี้ มารู้จัก สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่คู่ลำน้ำอีกหนึ่งชนิด สัตว์ตัวนั้นคือ ตะกอง.. เอกลักษณ์แห่งลำน้ำ ลำตะคอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้จะสูญพันธุ์เพราะอะไร…?
15ต.ค.64/ ตะกอง (Chinese water dragon) หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ของตะกอง คือ Physignathus cocincins ตะกองเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า อยู่ในวงศ์ Agamidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย มีรูปร่างทั่วไปคล้าย อีกัวน่า ที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ลักษณะทั่วไป : ตะกองมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 90 – 120 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ราว 10 – 30 เซนติเมตร มีหัวป้อมกว่า และสีของลำตัวเข้มกว่า โดยปกติตะกองมีหัวยาวและแบนหางใหญ่และค่อนข้างยาว มีเกล็ดปกคลุมผิวหนัง โดยเกล็ดบริเวณหัว หลัง และหางมีลักษณะเป็นตุ่มและเรียงตัวห่างกัน และบนหัวทางด้านท้ายทอย หลัง และหางจะมีหนาม (spine)ที่ยาวเรียงตัวเป็นแถวตามยาวในแนวกลางตัว
สีลำตัวปกติของตะกองจะมีสีเขียวเข้ม เขียวสด และสามารถที่จะเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้ ตะกองที่เป็นวัยอ่อนบางตัว ใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้าแลดูสวยงาม เมื่อเข้าสู่ตะกองวัยรุ่นมีลายบั้งจางๆสีขาวตามตัว และจะหายไปเมื่อโตขึ้น เมื่อโตขึ้นตัวผู้บริเวณส่วนหัวด้านบนจะมีโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวผู้เมียจะมีความนูนน้อยกว่า(สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช: ออนไลน์) และมีอายุ (life span) ตั้งแต่ 10 – 15 ปี (McLeod, L.. 2016 ออนไลน์)
ตะกองชอบที่จะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพป่าที่ค่อนข้างทึบ เช่น บริเวณป่าดิบแล้ง ริมลำห้วยที่มีน้ำไหล สัตว์ชนิดนี้เวลามันตกใจพบว่ามันจะวิ่ง 2 ขา แล้วหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว โดยปกติเมื่อภัยมามันจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานานๆ
สำหรับอาหารที่มันกินก็คือ แมลงชนิดต่างๆ เช่น ปลาเล็กๆ , กบ , เขียด , หนูตัวเล็กๆ และผลไม้บางชนิด ออกหากินตอนกลางวัน ตะกองจะมีฤดูกาลผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ในหนึ่งครั้งตะกองเพศเมียจะวางไข่ประมาณ 10 ฟอง โดยเลือกจะวางไข่บริเวณพื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย มันจะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 12-17 เซนติเมตร กว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร
หากถามถึงถิ่นอาศัยชอบอยู่ป่าดิบชื้นใกล้ต้ำตก หรือ ลำธาร และมีการแพร่กระจายที่สามารถพบได้ในป่าดิบเขา ความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วย เทือกเขาสลับซับซ้อนมากมาย เช่น เขาร่ม เขาแหลม และเขาเขียว ขณะเดียวกันก็มีทุ่งกว้างสลับกับไม้ป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก คลองลำตะกอง แม่น้ำลำพระเพลิง และห้วยมวกเหล็กตะกอง
ตะกอง ที่ไม่ใช่อีกัวน่า แต่เป็นกิ่งก่ายักษ์ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณลำห้วย ทำให้สามารถพบตะกองได้บริเวณคลองลำตะกอง ที่ทอดตัวตั้งแต่ฐานปฏิบัติการคลองอีเฒ่าผ่านศูนย์บริการนักท่องเที่ยว น้ำตกกองแก้ว ค่ายเยาวชน บริเวณสนามกอล์ฟเก่า น้ำตกผากล้วยไม้ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวไทร น้ำตกเหวประทุน ทำให้พบตะกองได้ตลอดคลองลำตะคอง และพบได้บริเวณห้วยสมอปูน คลองเหวนรก คลองท่าด่าน เส้นทางน้ำของคลองลำตะคอง ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ที่มา:http:www.paiduaykan.com/76 province/Northeast/nakhonratchasima/map.git)
ปัจจุบันจำนวนประชากรของตะกองได้ลดลงจากในอดีตมาก เนื่องจากถูกพรานไพรจับไปเป็นอาหาร และ ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน สำหรับผืนป่าอย่างดงพญาเย็นแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งก็ว่าได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกาศให้ตะกองเป็น ”สัตว์ป่าคุ้มครอง”
ส่วนที่มาของคำว่า “ลำตะคอง” แม่น้ำลำตะคอง ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอดีตเชื่อกันว่า มีตะกองอาศัยอยู่จำนวนมากบริเวณนี้ จึงเรียกลำน้ำนี้ว่า ลำตะกอง แต่เพี้ยนมาจนกลายเป็น “ลำตะคอง” ในปัจจุบัน
ตะกองที่อาศัยอยู่ในลำน้ำลำตะคอง ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ที่มา:http:www.thainationalparks.comspecies/chinese-water-dragon)
ขอขอบคุณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ : ข้อมูล/ภาพ
หยกดำ ส่องเขียว รายงาน