อีสานแล้งระดับน้ำต่ำวิกฤติ ลุ่มน้ำชีวุ่นดึงน้ำก้นอ่างมาใช้

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายกฯสั่ง”ธรรมนัส” รุดตรวจเขื่อนอุบลรัตน์หลังระดับน้ำต่ำขั้นวิกฤติ ต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ เดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ให้ลุ่มน้ำชีมีความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมอบหมายให้มาตรวจสถานการณ์น้ำ โดยเดินทางมายังเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่แห่งเดียวในจังหวัด

ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 รายงานว่า ปีที่ผ่านมาฝนตกลงอ่างเก็บน้ำน้อยทำให้ขณะนี้ต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้แล้วถึง 95 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำในทุกภาคส่วนทั้งสำหรับอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตรเนื่องจากปี 2562 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

สำหรับจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ 6.8 ล้านไร่ 26 อำเภอ 199 ตำบล จำนวนครัวเรือน 617,585 ครัวเรือน ประชากร 1,805,895 คน พื้นที่ทำการเกษตร 4.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 700,683 ไร่ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่านได้แก่ ลำน้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพอง และลำห้วยสายบาตร

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าการแก้วิกฤติแล้งเฉพาะหน้าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำพรม-เชิญเพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่นและอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานกาฬสินธุ์และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทุกอ่างฯ เพื่อชี้แจงแผนการบริการจัดการน้ำและย้ำให้ใช้น้ำตามแผน โครงการชลประทานมหาสารคาม โดยเฉพาะอำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคามเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำจึงส่งรถติดตั้งเครื่องกระจายเสียงวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ

ส่วนโครงการชลประทานร้อยเอ็ดและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ประชุมร่วมกับอาสาสมัครชลประทานเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอาสาสมัครชลประทานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 พร้อมกำชับให้แจ้งประชาชนรับทราบสถานการณ์อย่างทั่วถึงและขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง

ทั้งนี้ในระยะยาวได้วางแผนเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำของจังหวัดขอนแก่น ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2568 ได้แก่ ที่อำเภอแวงน้อยมีโครงการชลประทานขนาดกลางกำลังดำเนินโครงการแก้มลิงบึงละหานนาพร้อมอาคารประกอบ ตำบลละหานนาซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 เริ่มดำเนินการในปี 2559

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 99.34 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ประมาณ 16.88 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ วงเงินงบประมาณ 356.45 ล้านบาท โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านกุดหมากเห็บ ตำบลโนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ ดำเนินการในปี 2563-2565 พื้นที่ชลประทานประมาณ 10,300 ไร่ วงเงินงบประมาณ 420 ล้านบาท

โครงการชลประทานขนาดเล็กที่จะดำเนินการคือ แก้มลิงกุดระหว้าพร้อมอาคารประกอบ ตำบลโนนทอง อำเภอแวงใหญ่ (ขอรับงบประมาณเพิ่มเติม ปี 63 แก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี) เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 400,000 ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่ วงเงินงบประมาณ 15 ล้านบาท โครงการแก้มลิงหนองกองแก้วพร้อมอาคารประกอบ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 2 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1,600 ไร่ วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท และโครงการแก้มลิงหนองแก่งใหญ่พร้อมอาคารประกอบ ตำบลโนนพะยอม อำเภอชนบท เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 1.70 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1,400 ไร่ วงเงินงบประมาณ 68 ล้านบาท ปัจจุบันบริเวณลำน้ำชีบ้านกุดหล่ม และบ้านท่าม่วง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบทได้ก่อสร้างฝายชั่วคราวแกนดินเหนียวผสมซอยซีเมนต์ปิดกั้นลำน้ำชี โดยใช้งบประมาณของอบต. ศรีบุญเรือง เป็นลักษณะธนาคารน้ำใต้ดิน สามารถทดน้ำในลำน้ำชี ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในแผนระยะยาวกรมชลประทานจะก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำชี บ้านท่าสวรรค์ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี ซึ่งอยู่ถัดลงมาทางตอนล่าง ได้รับค่าศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักบริหารโครงการในปี 2563 งบประมาณค่าศึกษาประมาณ 300,000 บาท

ทั้งนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องมีแผนระยะยาวในการป้องกันและบรรเทาปัญหาทั้งการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและอุทกภัยในฤดูฝนของลุ่มน้ำชีซึ่งครอบคลุม 13 จังหวัดได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และบรรจบลำน้ำมูลที่อุบลราชธานี พื้นที่ 30.92 ล้านไร่ ความยาวลำน้ำ 1,047 กิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 11,244 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 19.48 ล้านไร่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรอาศัยน้ำฝนจึงต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น

ด้านนายศักดิ์สิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ลำน้ำชีมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขต อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ลุ่มน้ำชีมีขนาดใหญ่ประกองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศทำให้เกิดการผันแปรของปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ในทางกลับกันเมื่อมีฝนตกหนักก็ทำให้เกิดน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร ส่วนฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤติ

ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9 โครงการ ปริมาณน้ำเก็บกัก 184.64 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 60,600 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 121,160 วงเงินงบประมาณ 12,137.45 ล้านบาทได้แก่ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพรช ลำสะพุง ลำน้ำชี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ประตูระบายน้ำพระอาจารย์จือ ระบบส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา โครงการระบบส่งน้ำบ้านปากจาบ ประตูระบายน้ำบานนา แก้มลิงบึงละหาน และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองไหล ส่วนในปี 2563-2564 มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญที่อยู่ในแผนงานก่อสร้าง 9 โครงการ ปริมาณน้ำเก็บกัก 134.47 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน118,675 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 37,000 วงเงินงบประมาณ 5,369.58 ล้านบาท

ส่วนในปี 2563-2565 โครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี129 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนจะสามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้เป็นบริเวณกว้าง ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประชาชนและเกษตรกรในลุ่มน้ำชีด้วย

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน