ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
“ทองเปลว”เผยกรมชลเร่งมาตรการระบายน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ สู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเพื่อเจือจางค่าความเค็ม ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการเพิ่มปริมาตรน้ำที่ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท 100 ลบ.ม./วินาที โดยจะคงการระบายในอัตรานี้ถึงวันพรุ้งนี้ (10 ม.ค.) จากนั้นจะทยอยปรับลดลงจนอยู่ที่ 90 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น ระบาย 11 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องถึงพรุ่งนี้ แล้วจะทยอยปรับลดเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดระหว่างวันที่ 12-13 ม.ค. จากนั้นจะลดลงตามลำดับ ระหว่างนี้ได้เร่งสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ มาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเพื่อเจือจางค่าความเค็มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเดินเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระยาบรรลือ สูบน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีน ลงสู่คลองพระยาบรรลือ ระบายผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 36 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ที่ ปตร.พระยาบรรลือ สูบน้ำ 12 เครื่อง(จาก 14 เครื่อง เครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณน้ำ 36 ลบ.ม./วินาที เดินเครื่องผลักดันน้ำ 14 จุด รวม 72 เครื่อง โดยจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นอกจากนี้ยังสั่งให้สำนักเครื่องจักรกลเปิดเส้นทางน้ำคลองพระพิมลซึ่งเชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมายังคลองบางบัวทอง ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ ปตร.สน.พระพิมล 5 เครื่อง มีแผนระบายน้ำ 15 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากน้ำในคลองไม่ยกตัว จึงสูบออกที่ปตร.บางบัวทองได้บางช่วงเวลาเท่านั้น
ขณะเดียวกันยังได้ขอความร่วมมือจากการประปานครหลวงเพิ่มการสูบน้ำจากคลองประปาที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมาลงคลองปลายบางบริเวณหน้าโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จาก 6 ลบ.ม./วินาทีเป็น 10 ลบ.ม./วินาทีเพื่อให้น้ำจืดมาเจือจางค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ ประกอบกับเปิดบานปตร. คลองลัดโพธิ์ในช่วงเวลาน้ำลง ตั้งแต่เวลา 15.30- 21.30 น. รวม 6 ชั่วโมง
นายทองเปลวกล่าวว่า การเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดลง จากที่เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) เวลา 6.00 น. อยู่ที่ +14.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เช้านี้ (9 ม.ค.) อยู่ที่ +14.00 เมตร รทก. และคาดว่าวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) จะอยู่ที่ +13.50 เมตร รทก. แต่จะไม่ลดต่ำไปกว่านี้แล้วเนื่องจากจะทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ขณะนี้ขอความร่วมมือให้โครงการชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้น้ำยังสามารถเข้าไหลเข้าคลองชลประทานทุกสายและไหลย้อนขึ้นสู่แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีได้
“ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2462/2563 กรมชลประทานจะติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับลุ่มเจ้าพระยาจะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนจะเกิดอีกครั้งปลายเดือนนี้ซึ่งเตรียม
ส่งเครื่องจักร-เครื่องมือควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ตลอดจนพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง” นายทองเปลวกล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน