กรมชลสำรวจใต้น้ำแบบ3มิติ คลำหาทางน้ำแก้ไขความเค็ม

อธิบดีกรมชลประทานสั่งด่วน จัดทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศใต้น้ำแบบ 3 มิติที่คลองพระยาบันลือ เป็นนวัตกรรมความแม่นยำสูง ตรวจหาเพื่อกำจัดสันดอน อีกทั้งคำนวณความจุลำน้ำ เพื่อจัดสรรน้ำดีเจือจางค่าความเค็ม มั่นใจควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ตลอดฤดูแล้ง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาเร่งจัดทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติคลองพระยาบันลือซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองสำคัญที่รองรับน้ำที่ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาควบคุมค่าความเค็มของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

ทั้งนี้การจัดทำแผนที่จะทำให้เห็นสภาพภูมิประเทศใต้น้ำตลอดคลองที่ยาว 42.5 กิโลเมตรจะทำให้​ทราบว่า บริเวณใดมีสันดอนเพื่อนำเครื่องจักรขุดออก​ ไม่ให้เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถใช้คำนวณความจุของคลองได้อย่างแม่นยำ หากค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่า ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเสริมเป็นปริมาตรเท่าไรเพื่อให้คุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะสมที่จะใช้ผลิตน้ำประปา ใช้ในภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมได้

นายทองเปลว กล่าวว่า ฤดูแล้งนี้มีน้ำต้นทุนน้อย ดังนั้นการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาใช้ต้องนำมาในปริมาตรที่สัมพันธ์​กับค่าความเค็ม หากนำมาน้อยจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากนำมามากจะสิ้นเปลืองเนื่องจากต้องสำรองไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งและต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนรวมเวลาอีก 6 เดือน ซึ่งแผนที่ใต้น้ำคลองพระยาบันลือจะเสร็จในอีก 4 วัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือสำรวจเพื่อการชลประทานซึ่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีความแม่นยำสูง ใช้ตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำได้อย่าง%รวดเร็วทันเหตุการณ์

ด้านนายประทีบ ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยากล่าวว่า นวัตกรรมในการสร้างแผนที่ใต้น้ำ 3 มิตินั้น ทำโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่ติดกล้องสำหรับถ่ายภาพทางอากาศ อีกทั้งใช้เครื่องรับพิกัดจากดาวเทียม (GNSS-RTK) ซึ่งจะทราบค่าพิกัดและค่าระดับที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง​ (รทก.) นอกจากนี้ยังมีเรือที่ติดตั้งอุปกรณ์หยั่งความลึกของน้ำและพิกัดแบบอัตโนมัติ (Multi Beam Echo Sounder) จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อทำ​ “แผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติ”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างแผนที่ใต้น้ำได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีซึ่งเดิมใช้เวลา 1-2 เดือนขึ้นกับขนาดลำน้ำ แต่นวัตกรรมนี้เร็วขึ้น 7 เท่า เสร็จภายใน 10 วัน มีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก โดยแผนที่ที่สร้างขึ้นนี้จะใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งใช้ประกอบการออกแบบและปรับปรุงลำน้ำในระยะยาวได้ด้วย

สำหรับ “นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน” นี้ได้รับรางวัล Spacial Prize และ The Best of Spacial Prize จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้งานในอนาคต ปี 2559 และรางวัลชนะเลิศ Reseach and Development จากรายการ Thailand ITC Awards ปี 2559 โดยสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน