ม.วลัยลักษณ์ จับมือ รพ.สิชล MOU ความร่วมมือทางการแพทย์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีฯ เพื่อประสานความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร พร้อมดูแลนักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนชาวต่างชาติ

17 ก.พ. 65 ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล (รพ.สิชล) โดยมี นายแพทย์เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการ รพ.สิชล รองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มวล. พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสองสถาบันเข้าร่วมในพิธี ณ อาคารสหกิจศึกษา มวล. เมื่อเร็วๆ นี้

ศ.ดร. สมบัติ  กล่าวว่า ปัจจุบัน มวล.มีโรงพยาบาลร่วมฝึกในชั้นคลินิกของนักศึกษาแพทย์ 2 แห่ง คือ รพ.ตรัง จ.ตรัง และ รพ.วชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มวล. จัดการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาแพทยศาสตร์ สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ และ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการผลิตแพทย์ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยรับนักเรียนในพื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดปีละ 48 คน ตลอดระยะเวลา 13 ปี สำนักวิชาแพทยศาสตร์ได้ผลิตบัณทิตแพทย์ทั้งหมด 7 รุ่น

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่ รพ.ศูนย์การแพทย์ มวล. ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี พ.ศ. 2569 โดยมีแผนว่าจะสามารถรับนักศึกษารุ่นแรกได้ประมาณ 100 คน ซึ่งเมื่อรวมกับนักศึกษาที่ศึกษาชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาทั้ง 2 แห่ง ในปีการศึกษา 2569 หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตจะสามารถรับนักศึกษาได้ถึง 148 คน ที่ผ่านมา มวล.ได้รับการสนับสนุนจาก รพ.สิชลในการรับนักศึกษาแพทย์ชาวต่างชาติที่มี MOU กับมวล.เพื่อเข้าฝึกชั้นคลินิก เช่น นักศึกษาจาก Ohio State University ประเทศสหรัฐอเมริกา University of Angers, University of Western Brittany, ประเทศฝรั่งเศส และ University of Vienna, ประเทศออสเตรีย และเมื่อฝึกชั้นคลินิกแล้วได้กลับไปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ และความประทับใจที่มีต่อ รพ.สิชลและบอกต่อให้รุ่นน้องสมัครเข้ามาฝึกประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ จึงเป็นการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและ รพ.สิชล ในความร่วมทางด้านวิชาการและการสนับสนุนการจัดการศึกษาทางแพทยศาสตร์ชั้นคลินิกและด้านวิชาการอื่นๆต่อไป

ด้าน นายแพทย์ อารักษ์ วงศ์วรชาติ กล่าวว่า ในส่วนของรพ.สิชล นั้น ได้เริ่มต้นจากการเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กระดับปฐมภูมิ และต่อมาได้พัฒนายกระดับมาเป็นทุติยภูมิ จนปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิโดยใช้เวลาในการพัฒนามาอย่างยาวนานถึง 30 ปี เป็นการพัฒนาที่เริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติในยุคโลกาภิวัฒก์ การมีนักศึกษาแพทย์จากทั่วโลกกว่า 20 ประเทศมาแลกเปลี่ยนและฝึกประสบการณ์ที่รพ.สิชลนั้นเริ่มต้นมาจากการที่ทางโรงพยาบาลได้ส่งนายแพทย์ไปร่วมประชุมสัมมนาในเวทีโลก เพื่อสร้างเครือข่าย ประชาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านระบบสุขภาพให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งกว่าจะเป็นที่ยอมรับใช้เวลาหลายปีและในขณะนั้นทรัพยากรโรงพยบาลของรัฐมีจำกัด สิ่งที่รพ.สิชล ได้กำหนดให้นักศึกษาแพทย์นานาชาติได้เรียนรู้ มี 3 ด้าน คือ 1) การเรียนรู้เกี่ยวกับวิถึชีวิต วัฒนธรรม ภาษาและสิ่งแวดล้อม 2) แนวคิดการจัดการศึกษาทางการแพทย์ และ 3) การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่ประเทศอื่นๆ ไม่เคยพบเจอ ส่วนการสนับสนุนนักศึกษานั้น จะมีการจัดสรรที่พักให้ในราคาประหยัด และการดูแลช่วยเหลือให้ความรู้ทางการแพทย์และการประเมินผล

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มวล.และ รพ.สิชล มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการผลิตแพทย์ การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามนโยบายของรัฐด้านการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างครบวงจรและมีคุณภาพมาตรฐาน โดยจะร่วมกันจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ การรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก มวล.การจัดอาจารย์พี่เลี้ยงและบุคลากรช่วยสอนและอาจมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่มีความขาดแคลนหรือมีความเชี่ยวชาญ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยกำหนดกรอบความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี

สิวะ พันธภาค จ.นครศรีธรรมราช/รายงาน