CPF ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ แนะใช้หลัก 3C PLATFORM ผลิตอาหารปลอดภัย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ชูหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)  พร้อมแนะนำหลักการ 3C PLATFORM   ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต  ผลิตอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย  สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก 
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์   สมยานนทนากุล  รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานอาหารสากลและความยั่งยืน ในฐานะประธานคณะกรรมการสวัสดิภาพสัตว์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  ซีพีเอฟ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลกที่มุ่งมั่นผลิตอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย  และใส่ใจในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต  ยึดมั่นแนวทางปฏิบัติและประกาศนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Policy) มุ่งเน้นสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เคร่งครัดทั้งกิจการในประเทศไทยและต่างประเทศ  พร้อมกันนี้ กำหนดนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF  2030  Sustainability in Action ของบริษัท
นอกจากนี้ หลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ หลักอิสระ 5 ประการ ที่ ซีพีเอฟ ยึดเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานแล้ว บริษัทฯ ยังคำนึงถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้หลักการ 3C PLATFORM ประกอบด้วย 1C – Consolidation  คือ การใช้ประโยชน์จากปัจจัยความสำเร็จหรือจุดแข็งของอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่  เริ่มต้นจากที่ฟาร์มซึ่งมีหัวใจหลักในการเลี้ยงสัตว์  4 ประการ คือ 1. ระบบป้องกันโรคขั้นสูง  ซึ่งซีพีเอฟร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ จัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์สัตว์ปีก ปลอดโรคไข้หวัดนก (Compartment) ตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)  เพื่อป้องกันโรคเชิงรุกขั้นสูงสุด ด้วยการใช้หลักการประเมินความเสี่ยง เพื่อนำมากำหนดมาตรการปฏิบัติที่ตรงจุดของความเสี่ยงเกิดโรค โดยเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่
การผลิตตั้งแต่ โรงงานอาหารสัตว์ สู่ฟาร์มและโรงงานแปรรูป
2. การเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี “ไก่ได้อยู่ดีมีความสุข” ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของอาหารตอบโจทย์สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)  3. ประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยง และ 4. การมีจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสมดุลสิ่งแวดล้อมที่ดี  และการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่ดี
ปัจจัยด้าน 2C-Contribution  คือ การสนับสนุนการใช้นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการ BCG Model เช่น การนำ ไบโอเทคโนโลยี มาเชื่อมโยงทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ (Feed) ฟาร์มปศุสตว์ (Farm) จนถึงการแปรรูปอาหาร (Food)  เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทางเลือกลดการนำเข้า ขณะเดียวกันทำให้เกิดความแม่นยำในการพัฒนาสูตรอาหารตามพันธุกรรม
ของสัตว์ (Precision Nutrition) รวมทั้งให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษา หรือ องค์กรภาครัฐได้ศึกษาวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคที่ตรงกับสาเหตุก่อโรค (Autogenous vaccine) สำหรับปศุสัตว์ไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ สนับสนุนแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีสุขภาพดี  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น
สุดท้ายปัจจัย 3C – Collaboration  คือ การผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา  โดยมีเป้าหมายในการมุ่งพัฒนา Product   Champion  ของประเทศไทย เช่น มุ่งเน้นความร่วมมือในการผลิตและส่งออกเนื้อไก่โดยคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซี่งปัจจุบัน สัตว์ในฟาร์มของบริษัท 100% ได้รับการเลี้ยงตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุสมผล สร้างหลักประกันเนื้อสัตว์คุณภาพดี และอาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค” นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าว
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า   ซีพีเอฟ นำเทคโนโลยี smart farm มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่เนื้อ โดยติดตั้งระบบอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติในการประมวลผลข้อมูลในฟาร์ม ช่วยควบคุมการจัดการฟาร์ม เพื่อให้ไก่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมตลอดช่วงการเลี้ยง  เช่น  ระบบ Smart Eyes สามารถติดตามการกินอาหารและน้ำของสัตว์ แบบ Real-Time  ช่วยลดความเสี่ยงของโรคและพาหะของโรคจากการสัมผัสจากคน
ทั้งนี้ ในปี  2564 ซีพีเอฟ ได้รับการปรับเลื่อนชั้นมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์จากองค์กรสากลระดับโลก ขึ้นจาก Tier 4 สู่ Tier 3 ในรายงานเกณฑ์มาตรฐานทางธุรกิจตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (The Business Benchmark on Farm Animal Welfare Report : BBFAW)ซึ่งให้ความเชื่อมั่นว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นรักษามาตรฐานตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง./