กรมป่าไม้ – CPF ต้อนรับผู้บริหาร บมจ.บ้านปู

นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป  หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธงของกรมป่าไม้  นายสุธี สมุทระประภูต  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ  ซีพีเอฟ  พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ  นายสิทธิรัชต์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสายอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจ บมจ.บ้านปู  และทีมงานเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี  เพื่อศึกษาขั้นตอนและกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม   นำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินโครงการปลูกป่าของบริษัทเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป
ตัวแทนกรมป่าไม้ และคณะทำงานของโครงการฯ นำทีมงานของบมจ.บ้านปู ลงพื้นที่  พร้อมทั้งให้ข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูป่า  โดยนำชมแปลงปลกูป่าแบบพิถีพิถัน ซึ่งเป็นแปลงปลูกแปลงแรกของโครงการฯ  ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559  รวมทั้งชมแปลงส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ  การปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า  ซึ่งปัจจุบันผืนป่าที่นี่  ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูจนสามารถพลิกสภาพจากป่าเขาหัวโล้น กลับสู่ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์  นอกจากนี้  ทีมงานของบมจ.บ้านปู ทำกิจกรรมยิง Seed Ball   ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูป่าที่เลียนแบบธรรมชาติ   ช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติ  โดยชนิดของพันธุ์ไม้ที่ใช้ ต้องเลือกชนิดไม้เปลือกแข็ง งอกได้เร็ว และเป็นไม้โตเร็ว
“โครงการ ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก  ภายใต้ความร่วมมือ  3 ประสาน โดยกรมป่าไม้  ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และซีพีเอฟ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่  โดยที่ผลการดำเนินงานระยะที่หนึ่ง (ปี 2559 -2563) แล้วเสร็จ 5,971 ไร่  ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564-2568)  มีแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมเป็น 6,971  ไร่   โดยเมื่อปี  2564  ซีพีเอฟ นำโครงการปลูกป่าเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)  โดยเลือกพื้นที่ที่ขอรับรองโซนส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ 1,500 ไร่  ซึ่ง อบก. ได้รับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก 18,807.300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์  และในระยะต่อไปจะทยอยส่งแปลงปลูกป่าในโซนอื่นๆ   อาทิ แปลงปลูกป่าแบบพิถีพิถัน ปลูกป่าเชิงนิเวศ ปลูกป่าแบบเสริมป่า เข้าโครงการของอบก. เพื่อขอรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยสู่ Carbon Neutral  และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO )
ทั้งนี้ ในปี 2564 จนถึง ต้นปี 2565  มีองค์กรภาคเอกชนที่เข้ามาศึกษาดูงานกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  และเยี่ยมชม  โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง  อาทิ กลุ่มมิตรผล  บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น  และ บมจ. บ้านปู เป็นต้น