‘ประภัทร’เปิดงานแพะแห่งชาติ ผลิตป้อนตลาดในปท.-ส่งออก

‘ประภัตร’ เปิดงานแพะแห่งชาติ ฯมุ่งส่งเสริมการผลิตป้อนตลาดในประเทศและส่งออกสร้างรายได้เกษตรกร

นายประภัตร โพธสุธน รมช.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 โดยมีนายประยูร อินสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายวีระศักดิ์ เนตรเกื้อกูล ประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย และนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 รวมทั้งข้าราชการในสังกัดร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งเป็นงานที่กรมปศุสัตว์และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17-19 ม.ค. 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ไร่เขาบัวทอง) อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

ทั้งนี้นายประภัตร กล่าวว่าแพะ เป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในปี 2562 มีจำนวนแพะทั้งสิ้น 832,533 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 709 ราย ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด เกษตรกรเลี้ยงแพะ 8,877 ราย สภาพการเลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สามารถผลิตและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแพะเนื้อ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวเป็นองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมอาชีพ ด้านแพะ แกะ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ แกะ ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้การเลี้ยงแพะตลอดจนการพัฒนาแพะแกะด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานในอนาคต

รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนแหล่งเงินทุน เพื่อให้การเลี้ยงแพะแกะ มีความยั่งยืน สามารถประกอบเป็นอาชีพหลักเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป

“ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าการผสมเทียมและการขยายพันธุ์แพะของกรมปศุสัตว์นั้นประสบความสำเร็จทำให้มีการเพิ่มจำนวนของแพะมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ตลาดมีความต้องการแพะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม จีน และมาเลเซีย โดยราคาแพะที่หน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท แต่ปริมาณของแพะกลับไม่เพียงพอ”

“ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีอาชีพและสร้างรายได้ในช่วงน้ำแล้งได้” นายประภัตร กล่าว

ขณะที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ มีแนวทางส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงแพะ ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยเน้นตลาดนำการผลิต ตลอดจนพัฒนาสู่รูปแบบการจัดการแบบเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบปศุสัตว์เข้าสู่ยุค 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่กรมปศุสัตว์เองได้กำหนดกรอบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจึงต้องศึกษาพัฒนาการเลี้ยงของตนเอง พัฒนาสายพันธุ์แพะที่เลี้ยง ให้เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนทานต่อโรค ซึ่งนำมาแสดงอยู่ในงานนี้ด้วยเช่นกัน เกษตรกรต้องหมั่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนเกษตรกร ผู้เลี้ยงแพะด้วยกัน

อีกเรื่องที่ถือเป็นเรื่องสำคัญคือการทำอาหาร และผลิตภัณฑ์จากเนื้อแพะ คนเลี้ยงแพะควรจะมีเมนูอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อแพะ เพราะหากผู้ที่เลี้ยงไม่บริโภคเนื้อแพะ โดยเลี้ยงเพื่อขายอย่างเดียวแล้ว อาจทำให้ราคาขึ้นอยู่กับตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง เป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงขายแพะยกฝูงเมื่อราคาไม่จูงใจให้เลี้ยง แต่หากผู้เลี้ยงมีเมนูอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแพะ ก็จะไม่ขายยกฝูงทีเดียวเพราะสามารถเลี้ยงเอาไว้บริโภคเอง หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ซึ่งในงานนี้จัดให้มีการประกวดการปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์จากเนื้อและนมแพะ ด้วยเช่นกัน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกอีกว่า การจัดงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 จัดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมงาน และผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้การเลี้ยงแพะ แกะ ตลอดจนการพัฒนาความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการเลี้ยง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้นำไปปรับใช้กับการเลี้ยงแพะของตนเอง

กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การประกวดพันธุ์แพะเนื้อ/แพะนม ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนการประกวดแพะลูกผสม/แกะลูกผสม นิทรรศการให้ความรู้ และข้อมูลด้านวิชาการต่างๆ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ทั้งในรูปแบบของนิทรรศการมีชีวิต

นิทรรศการวิชาการ ตลอดจนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติแสดงพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ การจัดการประชุมสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “ตลาดแพะนำการผลิต พิชิตปัญหาเกษตรกรนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจเข้มแข็ง” การประชุมเสวนาเกษตรกร หัวข้อ “แพะไทยคุณภาพ เกษตรกรเข้มแข็ง สู่ตลาดนานาชาติ” การประชุมสานสัมพันธ์เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย การออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายเกษตรกร สินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน นักเรียน นักศึกษา ขอเชิญชวนเกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ เข้าเที่ยวชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 เพื่อจะได้ศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่ และนำความรู้กลับไปปรับใช้ในการเลี้ยงแพะ แกะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง การผลิตให้ดียิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศต่อไป

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน