นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ 79-80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะถึงนี้ โดยราคานี้ทำให้เกษตรกรพออยู่ได้ หลังจากแบกรับภาระขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี และไม่กระทบกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจนเกินไป นับว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรค ASF ในสุกร ที่เกิดในหลายประเทศ ทำให้เกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างระมัดระวังในการเข้าเลี้ยงสุกรมากขึ้น ด้วยการชะลอการนำลูกสุกรเข้าเลี้ยง หรือเข้าในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ รวมถึงไม่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาทดแทนที่ปลดไป ส่งผลให้สุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 15% จากเดิมที่มีสุกรในระบบประมาณ 9,504,921 ตัว ผู้เลี้ยงสุกร 191,545 ราย
“ยืนยันว่าปริมาณหมูมีเพียงพอต่อการรองรับการบริโภคในประเทศ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล การปรับราคาขึ้นนี้สะท้อนตามกลไกตลาด จากการบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ขณะที่การเลี้ยงสุกรขณะนี้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องระบบป้องกันโรคเพิ่มตัวละ 3-5 บาท ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งและอากาศแปรปรวน หลายพื้นที่ร้อนจัดส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้สุกรกินอาหารน้อยลงและโตช้า ต้องเลี้ยงนานขึ้น โดยต้องยืดเวลาเลี้ยงออกไปอีก 2 สัปดาห์ ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้นทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าแรงงาน ขอให้ผู้บริโภคเห็นใจด้วย” นายสุรชัย กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ภาวะภัยแล้งทำให้ปัจจุบันปริมาณน้ำสำรองที่กักเก็บไว้ใช้ภายในฟาร์มเริ่มไม่เพียงพอ เกษตรกรหลายพื้นที่จำเป็นต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่น สำหรับให้สุกรกินและเป็นน้ำใช้ในฟาร์ม และยังต้องมีต้นทุนเพิ่มในการปรับคุณภาพน้ำให้สะอาด ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มในส่วนของค่าน้ำเป็น 300-600 บาทต่อการเลี้ยงสุกรขุน 1 ตัว จากปกติต้นทุนส่วนนี้อยู่ที่ 30 บาทต่อตัว หรือเพิ่มขึ้นถึง 3-6 บาทต่อเนื้อสุกร 1 กิโลกรัม
ว่าที่ ร.ต.กานต์ เหมสมิติ รายงาน