กรมชลฯ ตั้งศูนย์แก้ไขและบรรเทาผลกระทบปัญหาภัยแล้ง 5 จังหวัดในภาคอีสานตอนกลางเนื่องจากปีที่ผ่านมาฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย น้ำต้นทุนน้อย ด้านผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 จัดส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาผลกระทบปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63” ขึ้นเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขวิกฤตภัยแล้งและบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อยตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาผลกระทบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ และแนวทางลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งได้อย่างรวดเร็ว โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจัดตั้งที่สำนักงานชลประทานที่ 6 เป็นแห่งแรกเนื่องจากเป็นพื้นที่ตอนกลางของภาค ปริมาณฝนตกในปี 2562 ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ทำให้น้ำต้นทุนน้อยจึงจำเป็นต้องมีศูนย์ฯ ขึ้นมาดูแลพื้นที่เสี่ยงใน 5 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ซึ่งได้ย้ำให้บริหารจัดการน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำอุปโภค-บริโภคต้องไม่ขาดแคลน ซึ่งล่าสุดได้ผันน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์มาสนับสนุนการผลิตน้ำประปาเลี้ยงอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามที่ใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นอยู่ แต่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำน้อยมาก ต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ การผันน้ำจากเขื่อนลำปาวซึ่งมีน้ำมากมาเก็บกักไว้หน้าเขื่อนวังยาง จังหวัดมหาสารคามเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาจึงช่วยลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ได้
ด้านนายศักดิ์สิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า วันนี้ (21 ม.ค.)ได้เปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาผลกระทบปัญาภัยแล้ง ปี 2562/63 ขึ้นเพื่อดูแลและแก้ปัญหาภัยแล้งใน 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ทั้งนี้แผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้เน้นเพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ โดยสามารถสนับสนุนพืชที่ใช้น้ำน้อยบางพื้นที่เท่านั้น
การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นในพื้นที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในเขตความรับผิดชอบ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมแผนปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ ไปเตรียมความพร้อมไว้ที่โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง ได้ทันท่วงที
สำหรับระดับน้ำท่าของแม่น้ำชีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางมีแนวโน้มลดลงขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งได้แก่ .เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้าน ลบ.ม. นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้ว 117.81 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น -6.37% ของความจุอ่าง ระบายวันละ 500,000 ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ ความจุเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. ,uน้ำใช้การ 6.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 5.07% ของความจุอ่าง งดการระบาย และเขื่อนลำปาว ความจุเก็บกัก 1,980 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การ 1,187.32 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59.97% ของความจุอ่าง ระบายวันละ 5.01 ล้านลบ.ม. ส่วนแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 62/63 (1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) 1,157.001 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรแล้ว 340.603 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29.44% คงเหลือ 816.398 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70.56% ทั้งนี้การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 62/63 มีการเพาะปลูกเกินแผน จากที่วางไว้รวม 438,613 ไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 567,446 ไร่ คิดเป็น 129.37%
“สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด 87 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ยังคงสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยการอุปโภคบริโภคอยู่ 34 เครื่อง นอกจากนี้โครงการชลประทานทุกแห่งในความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัด ได้ส่งรถติดเครื่องขายเสียงเคลื่อนที่ออกประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ พร้อมจัดเวทีประชุม/ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดโดยตลอด” นายศักดิ์สิริกล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน