ทส.ร่วมมือไทย-เมียนมา ทำแนวกันไฟ 2 แผ่นดิน

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

24 ม.ค. 63 /นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพลดับไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟสองแผ่นดิน (ไทย – เมียนมา) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ร่วมด้วยผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดี
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่15 (เชียงราย) เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมงาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า โครงการที่จัดขึ้นนี้เป็นการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน สร้างความตระหนัก และความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นการรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปพัฒนาการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพิ่มทักษะความชำนาญในการควบคุมไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างการปฏิบัติงานและบูรณาการร่วมกัน

สำหรับนักปั่นอาสาตรวจหาไฟป่านั้น เปรียบเสมือนเป็นแนวหน้าในการตรวจหาไฟป่าเนื่องจากการสร้างเครือข่ายกระจายอยู่ทุกอำเภอ เมื่อชาวบ้านปั่นจักรยานผ่านไปพบเจอไฟป่าหรือการเผาป่า กลุ่มควันไฟตามพื้นที่ชนบท หรือตามป่าเขาในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถแจ้งเหตุ ให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้ไฟป่าลุกลามขยายพื้นที่ทำความเสียหายเป็นวงกว้าง จึงเหมาะสมกับตำแหน่งแนวหน้าในการช่วยระงับเหตุไฟป่า นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย นายวราวุธ กล่าว

โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพลดับไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟสองแผ่นดิน
(ไทย – เมียนมา) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แบ่งเป็น 2 กิจกรรมใหญ่ ได้แก่ 1.กิจกรรมนักปั่นอาสาตรวจหาไฟป่า ไทย-เมียนมา รณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน 2 แผ่นดิน ณ บริเวณสถานีขนส่งห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย เป็นการปล่อยขบวนรถจักรยานนักปั่นอาสาตรวจหาไฟป่า ปั่นไปตามเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีขนส่งห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปตามเส้นทางขึ้นพระธาตุดอยตุง ผ่านจุดชมวิวดอยตุง (กิโลเมตรที่ 12) ไปจนถึงสามแยกกองรักษาการดอยตุง และกลับมาที่สถานีขนส่งห้วยไคร้ระยะทาง 32 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก ทส.กับเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นักปั่นอาสาตรวจหาไฟป่า นักเรียน นักศึกษา ประชาชน กลุ่มชมรมจักรยาน ประชาชนเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในท้องที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา

ส่วนกิจกรรมที่ 2. กิจกรรมทำแนวกันไฟสองแผ่นดิน (ไทย-เมียนมา) ได้รับเกียรติจาก
นายวราวุธ ศิลปอาชา (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ณ บริเวณสนามกีฬามิตรภาพไทย – เมียนมา (ฐานช้างมูบ) อำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการร่วมกันทำแนวกันไฟสองแผ่นดิน การเสวนาเครือข่ายการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การมอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้แก่ผู้แทนเครือข่าย มอบเสบียงอาหารให้แก่กำลังพลดับไฟป่า การสาธิตการซ้อมดับไฟป่า โดยเจ้าหน้าที่สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การเกิดไฟป่าเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งในการลดพื้นที่ป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข จากข้อมูลการเกิดไฟป่าพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากมนุษย์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประกอบกิจกรรมการหาของป่า ล่าสัตว์ เผาไร่ฯ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤตปัญหาหมอกควันด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทัศนวิสัยในการมองเห็น ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งทั้งไฟป่าและหมอกควันยังส่งผลกระทบทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับประเทศไทยด้วย

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีภารกิจในการคุ้มครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 81.47 ล้านไร่ โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้รับงบประมาณเพื่อควบคุมไฟป่าในการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 26.75 ล้านไร่ และสำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ที่มีแนวเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย มีแนวเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย ที่เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันทุกปี ตลอดจนเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูงในการเกิดปัญหาหมอกควัน ทั้งปัจจัยในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และได้รับการความร่วมมือจากประชาชนทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมกันป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ตลอดจนการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน นโยบายและมาตรการอื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หากประชาชนพบเห็นไฟป่า การเผาป่า การค้าและล่าสัตว์ป่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ สามารถแจ้งได้ที่เบอร์สายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน