ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
“ทองเปลว “ห่วงจัดสรรน้ำลุ่มพระยา 22จว.มีปัญหาหวั่นน้ำหายกลางทาง เร่งประสาน มท.คุมเข้มแอบสูบน้ำไปใช้นอกแผน
27ม.ค.63/นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ทั้งหมดได้วางแผนจัดสรรน้ำ โดยให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค หากมีเหลือถึงจะจัดสรรเพื่อปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงทำนาปรัง ดังนั้น จึงมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานหลายพื้นที่จำเป็นต้องงดทำนาปรังเพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาให้งดทำนาปรังทั้งหมด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ยังมีปลูกข้าวนาปรังบ้างพอสมควร
ทั้งนี้ ในการจัดสรรน้ำที่วางแผนไว้ในฤดูแล้งทั้งประเทศรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 อีก 11,340 ล้านลบ.ม.
นายทองเปลว กล่าวว่า มีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 7,675 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ของแผน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ 4,000 ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,256ล้านลบ.ม. คิดเป็น 56% ของแผน ในขณะที่การปลูกพืชฤดูแล้งวางแผนไว้ทั่วประเทศ 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปรากฏว่าการปลูกข้าวนาปรังไม่เป็นไปตามแผน ขณะนี้เพาะปลูกแล้ว 3.10 ล้านไร่ เกินกว่าแผนที่วางไว้คิดเป็น 134.21% ของแผนฯ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยารณรงค์งดทํานาปรังหรือนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2562/63 ผลออกมาขณะนี้เพาะปลูกแล้ว 1.87 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผนจะอยู่ที่ลุ่มเจ้าพระยาเกือบทั้งหมดและจากการสำรวจเกษตรกรที่ทำนาปรังส่วนใหญ่ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ตนเอง ดังนั้น การจัดสรรน้ำยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้มีน้ำพออุปโภคบริโภคจนถึงเดือนกรกฎาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะมาเดือนกรกฎาคมแน่นอน
“การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาค่อนข้างยากกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ เพราะพื้นที่กว้างครอบคลุมกว่า 22 จังหวัด และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตนเอง มีเพียงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำมีน้อยมากมีปริมาณน้ำที่ได้งานได้เพียง 204 ล้านลบ.ม. หรือ 21% ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น ต้องใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จัดสรรน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยา ด้วยระยะทางไกลน้ำย่อมสูญเสียในแต่ละพื้นที่น้ำไหลผ่านจะมีการสูบน้ำขึ้นไปใช้ระหว่างทาง บางครั้งนำไปใช้ไม่เป็นไปตามที่จัดสรรให้ จึงขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเรื่องจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้จัดสรรน้ำให้พ้นวิกฤติภัยแล้งปีนี้ไปให้ได้โดยที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ขอประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของน้ำ หากบริหารจัดการน้ำตามแผนจะเพียงพอสำหรับรักษาระบบนิเวศของลำน้ำและอุปโภคบริโภคจนถึงฤดูฝนแน่นอน”นายทองเปลว กล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน