รง.ผลิตอาหารสัตว์บกลำพูนและพิษณุโลก คว้ารางวัลต้นแบบ “Bubble and Seal” ดีเด่นจาก สธ.

โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกพิษณุโลก ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบ ด้านการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการ “Bubble and Seal ” ระดับดีเด่น  
 นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบกิจการของซีพีเอฟ ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ โดยได้จัดทำมาตรการ Bubble and Seal เต็มรูปแบบ ทำให้สามารถควบคุมการระบาดในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงงานของซีพีเอฟในหลายพื้นที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกลำพูนและโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกพิษณุโลก  ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นแบบของจังหวัด และได้รับคัดเลือกเข้ารับการตรวจประเมินตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบด้านการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรค ระดับดีเด่น
“ซีพีเอฟ กำหนดแนวปฏิบัติและยกระดับมาตรการป้องกันความปลอดภัยของฟาร์ม-โรงงานและมาตรการดูแลความปลอดภัยของพนักงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ แนวทางปฎิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ หรือที่เรียกว่ามาตรการ D-M-H-T-T ย่อมาจาก Distancing (อยู่ห่างไว้) Mask wearing (ใส่มาส์กกัน) Hand washing (หมั่นล้างมือ) Testing (ตรวจให้ไว) ThaiChana (ใช้ไทยชนะ และหมอชนะ) มาตรการ  Bubble and Seal การเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด การจัดการกรณีพบผู้ติดเชื้อ มาตรการฟื้นฟูพื้นที่กรณีที่มีการแพร่ระบาดในโรงงาน รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงาน ตลอดจนให้ความร่วมมือดำเนินมาตรการต่างๆ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นายเรวัติกล่าว
“Bubble and Seal” เป็นการควบคุมกลุ่มพนักงานในโรงงาน โดยมีการจัดการในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกัน  ด้วยการแบ่งคนเป็นกลุ่มย่อยๆ แบ่งแยกพื้นที่ เพื่อคัดแยกคนที่ไม่ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงออกจากกัน นอกเหนือจากกลุ่มที่ติดเชื้อจะถูกนำตัวเข้ารักษา ที่สำคัญคือ จะไม่มีการทำงานข้ามกลุ่มกัน และไม่ให้มีกิจกรรมนอกสถานประกอบการ หรือนอกที่พักอาศัยที่สถานประกอบการจัดไว้ให้ ทำให้การควบคุมสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและลดการแพร่กระจาย เพื่อให้การดำเนินการของสถานประกอบการยังดำเนินต่อไปได้ หรือเพื่อให้อุตสาหกรรมยังคงดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบปริมาณผลผลิตในตลาด ซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ
ผลการดำเนินมาตรการดังกล่าวของโรงงานของซีพีเอฟ ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองเข้า-ออกพื้นที่โรงงาน การติดตามรายงานสุขภาพพนักงาน การปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด การทำงานแบบกลุ่มย่อย (Small Modular) การตรวจ ATK เพื่อประเมินความเสี่ยงพนักงาน และกิจกรรมส่งเสริมการป้องกันโรคโควิด-19 ภายในโรงงาน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค  ปัจจุบันถึงแม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่บริษัทฯ ยังมีการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มอบโล่รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบ ด้านการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรค “Bubble and  Seal ” จำนวน 87 แห่ง โดยแบ่งเป็นระดับดีเด่น 35 แห่ง และระดับดีมาก 52 แห่ง ซึ่งนอกจากสถานประกอบการของซีพีเอฟที่ได้รับรางวัลดังกล่าวแล้ว ยังมีบริษัทในเครือซีพี ได้แก่ CP All เชียงใหม่ และ บริษัท  ข้าวซี.พี.จำกัด(โรงงานข้าวนครหลวง) ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย./