“พระศรีธวัชเมธี”พาตามรอย“คัมภีร์พระมาลัย”ที่วาติกัน

“พระศรีธวัชเมธี” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี

สัญลักษณ์ความสัมพันธ์สองศาสนาแห่งสองแผ่นดิน เหมือนได้เดินทางเที่ยวไปไกลถึงนครรัฐวาติกัน เมื่อ “พระศรีธวัชเมธี” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี ได้พาญาติโยมย้อนรอยไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไป และความสำคัญของ “คัมภีร์พระมาลัย” ในโอกาสมาแสดงธรรมบรรยายในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 ณ อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ตามปณิธานองค์กรที่ต้องการร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2477 หรือ 2 ปี หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” ได้โดยเสด็จฯ พร้อมด้วย “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี” ในการเยือนนครรัฐวาติกัน ครานั้นได้พระราชทานคัมภีร์ภาษาขอมฉบับหนึ่งให้ไว้ที่สำนักวาติกัน ซึ่งก็คือคัมภีร์พระมาลัยที่ว่า โดยได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา “สันตะปาปาฟรานซิส” ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก สันตะปาปาองค์ปัจจุบัน พระองค์ที่ 266 มีพระสมณประสงค์ต้องการจัดแสดงคัมภีร์ดังกล่าวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน โดยต้องการให้ผู้เข้าชมได้รับทราบเนื้อหาด้วย จึงให้ปริวรรตคัมภีร์นี้ ทว่าสำนักวาติกันไม่มีผู้เชี่ยวชาญอักษรขอม จึงได้นิมนต์ให้คณะสงฆ์ไทยปริวรรตคัมภีร์นี้เป็นอักษรไทย เพื่อที่จะแปลเนื้อหาของคัมภีร์เป็น 7 ภาษา ให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ จากทั่วโลกได้ศึกษา

เริ่มแรกจากการสืบค้นทางสำนักวาติกันเข้าใจว่า น่าจะเป็นการนำมาโดย “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้เสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกันเมื่อปี พ.ศ. 2515 ครั้งยังดำรงอิสริยยศที่ “สมเด็จพระวันรัต”และได้เข้าเฝ้า “สันตะปาปาจอห์น พอลที่ 6” สันตะปาปาพระองค์ที่ 264 ในขณะนั้นด้วย โดยโอกาสนั้นยังมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีก 3 รูปร่วมด้วย ได้แก่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” (ป. อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ด้วยเพราะมีภาพวาดของสมเด็จพระวันรัตอยู่ที่สำนักวาติกันจึงทำให้เข้าใจผิดไป คัมภีร์พระมาลัยถูกนำไปสู่นครรัฐวาติกันก่อนหน้านั้นถึง 38 ปี โดยพระมหากษัตริย์ และพระราชินีของไทย

“คัมภีร์พระมาลัย” จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ 2 ศาสนา 2 แผ่นดิน หลังจากสมเด็จพระวันรัต ได้เข้าเฝ้าสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 6 อีก 12 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2527 ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกก็ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยได้เข้าเฝ้า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ” (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพุทธศาสนา และคริสตศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย กับนครรัฐวาติกัน

สำหรับการปริวรรตคัมภีร์พระมาลัยร่วมกันระหว่างสำนักวาติกัน และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารนั้นใช้เวลาถึง 4 ปี เมื่อแล้วเสร็จจึงได้นำถวายพระสันตะปาปาฟรานซิสที่นครรัฐวาติกัน เมื่อ พ.ศ.2561 นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “วาติกัน-วัดพระเชตุพน มิตรภาพระหว่างศาสนา” เพื่อรวบรวมข้อมูลการทำงานร่วมกันไว้ให้ผู้สนใจได้หาอ่าน โดยจัดพิมพ์ไว้ 3 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาอิตาลี และเมื่อปีที่แล้วสันตะปาปาฟรานซิส ก็เป็นประมุขแห่งศาสจักรโรมันคาทอลิกพระองค์ที่ 2 ที่เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในรอบ 35 ปี โดยได้มีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งภาพการเข้าเฝ้า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังความปลื้มปิติแก่พุทธศาสนิกชน และคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก ถือเป็นความสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ที่จะธำรงเหนียวแน่นไว้ตลอดไป

สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” สามารถเข้าร่วมได้ที่ชั้น 11 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน