เปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดปราจีนบุรี

18 ก.พ.63 / นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ พื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี

สำหรับการเปิดโครงการฯครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล นายอำเภอนาดี นายนพดล งามเหลือ นายอำเภอกบินทร์บุรี นายวัลลภ ประวัติวงศ์

ตามด้วย ปศุสัตว์เขต 2 นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี นายวรากร จิตรหลังคณะกรรมการโครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์

การดำเนินงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ เป็นงานสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วัตถุประสงค์เพื่อการบริการประชาชนชาวไทย ให้มีความอยู่ดีกินดีโดยถ้วนหน้าและเสมอภาคกัน เป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจอีกทางหนึ่ง สร้างคุณประโยชน์ให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ อยู่ห่างไกลและขาดโอกาส โครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ เพื่อให้บริการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ให้แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกร เพื่อควบคุมป้องกันโรคระบาดทั้งจากสัตว์สู่สัตว์ และโรคสัตว์สู่คนไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปในพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยพัฒนาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของสัตวแพทย์ไทย และบุคลากรทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของวิชาชีพสัตวแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ ต่างผนึกกำลังในการใช้เทคโนโลยี และวิทยาการอันทันสมัยของแขนงต่างๆ เพื่อบริการประชาชนให้ได้ผลสำเร็จตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

อย่างไรก็ดี นับเป็นความโชคดีของเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี ที่จะได้รับการบริการจากบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีน้ำใจดีงาม ที่จะได้มาช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของสัตว์และบรรเทาความทุกข์ร้อนของทุกท่าน

สำหรับ การปฏิบัติงาน มีการบริการประกอบด้วย การรักษาสัตว์ การตรวจสุขภาพ การถ่ายพยาธิให้กับโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร การฉีดวัคซีน การผ่าตัดทำหมันให้สุนัขและแมว การผสมเทียม การตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ การอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักเรียนและเกษตรกรในหลักสูตรที่ตรงความต้องการในพื้นที่ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์และการจัดการฟาร์ม โรคพิษสุนัขบ้า การตัดแต่งและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายเนื้อสัตว์ การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน การเสวนาปัญหาปศุสัตว์ การสาธิตและการปฏิบัติการทำหญ้าหมักฟางหมัก การทำแร่ธาตุก้อนและการจัดทำแปลงหญ้าพระราชทาน และการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพสัตว์ และอาหารสัตว์

ทั้งนี้ เพื่อให้สัตว์ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ลดการสูญเสียสัตว์อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วย ลดการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ รวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ให้เกษตรกรมีความรู้และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดูแลรักษาสัตว์ป่วยเบื้องต้น และช่วยพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของอาชีพต่อไป