ไทยร่วมสนับสนุนอาเซียนสำรองข้าวฉุกเฉินรองรับภัยพิบัติวิกฤติ

เกษตรฯ เพิ่มปริมาณสำรองข้าวฉุกเฉิน รองรับภัยพิบัติวิกฤติในอาเซียนที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุดประเทศสมาชิกร่วมกันบริจาคข้าวสำรองช่วยเหลือประชากรได้กว่า 4 ล้านคน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้แทนประชุมคณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) Council) หรือคณะมนตรีแอปเทอร์ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

สำหรับวาระประชุมคือทบทวนปริมาณข้าวสำรองให้เหมาะสมกับความต้องการการบริโภคในภาวะวิกฤติ ซึ่งไทยเสนอให้คณะมนตรีแอปเทอร์พิจารณาเพิ่มปริมาณข้าวสำรองในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในรูปสัญญา (Earmarked Stock) ให้สอดคล้องกับ

สถานการณ์ภัยพิบัติ รวมทั้งโรคระบาดในคน พืช และสัตว์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่น การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โรคอหิวาต์อัฟริกาในสุกร (African Swine Fever) การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Army worm) ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locust)

นอกจากนี้ยังมีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แก่ ภัยแล้ง พายุไต้ฝุ่น ตลอดจนปริมาณความต้องการบริโภคตามจำนวนประชากรในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีปริมาณข้าวสำรองรวมของภูมิภาคในการซื้อขายข้าวเพียง 7.87 แสนตัน จากการใช้ตัวเลขราคาอ้างอิงมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ไทยในฐานะประเทศผู้ขายข้าว (Supplying Country) อย่างต่อเนื่อง ยินดีร่วมสนับสนุนข้าวสำรองเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และมาเลเซียบริจาคข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 24,000 ตันแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความยากจนในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมา และไทยมากถึง 3,745,228 คน

ขณะเดียวกัน หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่า จะสามารถช่วยเหลือได้เพิ่มเป็น ​4,016,687 คน ดังนั้นการเพิ่มปริมาณข้าวสำรองในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามจะนำไปสู่ความมั่นคงอาหารและสร้างสมดุลราคาข้าวให้มีเสถียรภาพได้อย่างแน่นอน