อธิบดีกรมป่าไม้ “ฟันธง” ปล่อยรถแรลลี่ “อ้อมกอดขุนเขาฯ” มุ่งมั่นฟื้นฟูธรรมชาติสู่ “หลังคาวังน้ำเขียว”
หลังจากเตีรยมการจัดแข่งขันรถแรลลี่มาระยะหนึ่ง เช้าวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย ประธานชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้แถลงข่าวร่วมกันอีกครั้งที่จุดสตาร์ทลานจอดรถหลังกรมป่าไม้ โดยร่วมกัน “ฟันธง” ปล่อยคาราวานรถแรลลี่ “อ้อมกอดขุนเขา…เรารักป่าในเมือง” มากกว่า 70 คัน เพื่อแข่งขันแบบครอบครัวตามใบนำทางที่ขับไปตามเส้นทางจากรุงเทพฯสู่เขาอีโต้(ปราจีนบุรี) และต่อไปยังสถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ระยะทาง 237 กิโลเมตร เพื่อศึกษาสัมผัสธรรมชาติที่ได้ชื่อว่าเป็น “หลังคาวังน้ำเขียว” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2563 และนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์ธรรมชาติ
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงกิจกรรมแรลลี่ครั้งนี้ว่า เป็นข้อเสนอของชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สามารถสร้างความร่มเย็นให้กับแผ่นดินไทย และเป็นแหล่งกำเนิดสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์ พันธุ์พืช และสัตว์นานาชนิดได้อยู่อาศัยแบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอย่างยั่งยืนยาวนาน
“กรมป่าไม้ได้เห็นเจตนาดีของชมรมคอลัมนิสต์ฯ ซึ่งได้เคยมีกิจกรรมร่วมปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำยมที่อำเภอปง จังหวัดพะเยามาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปีแล้ว จึงสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูป่าที่เห็นสมควรตามความเหมาะสมในพื้นที่อื่นๆด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจและเข้าถึงป่าไม้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งซึมซับธรรมชาติด้วยความรักและความประทับใจ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
ณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย
แรลลี่ครั้งนี้จะแตกต่างกว่าแรลลี่ทั่วไปเพราะผู้ที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ ต้นไม้ ป่าในเมือง มีความรู้เกี่ยวกับป่ากับต้นไม้แต่ละชนิด ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่เข้ามาร่วมเพื่อถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อๆไป อย่างที่เราพูดกันว่าการปลูกป่าต้องเริ่มต้นจากใจคนก่อน ถ้ามีความรู้สึกรักป่ารักธรรมชาติแล้วป่าจะเกิดขึ้นเองจากความรู้สึกที่เรามี
ส่วนการที่กรมป่าไม้เลือกเป้าหมายเดินทางด้วยแรลลี่ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการป่าไม้ และสถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช อ.วังน้ำเขียวจ.นครราชสีมานั้น อธิบดีกรมป่าไม้เผยว่า สถานที่ดังกล่าวมีความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีรถจักรยานให้ปั่นชมความงามของป่า ชมหน้าผาหินซ้อน มีจุดพิสูจน์ความแข็งแกร่งด้วยการปีนต้นไม้ด้วยเชือก ศึกษาต้นกำเนิดของแม่น้ำปราจีนบุรี และสร้างสีสันการยิงหนังสติ๊กยักษ์ด้วยเมล็ดพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกรักป่าและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติพร้อมๆไปกับกิจกรรมรอบกองไฟแบบคาวบอยอินเดียนไนท์ และการค้างแรมด้วยเต้นท์นอนแบบแนบชิดธรรมชาติ ชื่นชมบรรยากาศดวงดาวยามค่ำคืน ครั้งนี้ถือว่าเราเริ่มจากทำจากจุดเล็กๆก่อน อาจจะมีปัญหาอุปสรรคบ้างก็จะแก้ไขกันต่อไป แต่เชื่อว่าจะมีความสนุกสนานแน่นอน ในอนาคตเราจะพัฒนาต่อยอดให้มากขึ้นกว่านี้ อาจจะมีความท้าทายที่มากขึ้น มีเส้นทางที่ตื่นเต้นมากขึ้น
“กรมป่าไม้หวังที่จะได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ได้สัมผัสผืนป่าให้มากขึ้น จนเกิดกระแสรักและหวงแหนธรรมชาติอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนสถานการณ์การเผาทำลายจนควันไฟแผ่กระจายอย่างน่าวิตกในปัจจุบัน” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
ด้านนายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยว่า หลังจากที่ชมรมได้มีกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำยม ที่อำเภอปง จังหวัดพะเยามา 4 ปีแล้ว โดยได้รับความไว้วางใจจากทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ และมีพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกจำนวนไม่น้อย ให้ความสนใจเป็นจิตอาสาไปร่วมปลูกป่าด้วย ทำให้ผลจากการเผยแพร่ข่าวในวงกว้างกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบมากขึ้น
“การจัดแข่งขันแรลลี่อ้อมกอดขุนเขาเป็นการได้สัมผัสป่าอย่างใกล้ชิด เป็นอีกวิธีหนึ่งในหลายๆวิธีที่เป็นกลยุทธ์ หรือสร้างเทคนิคที่แตกต่าง เพื่อจูงใจให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าหันมารักและหวงแหนธรรมชาติ ช่วยกันฟื้นฟูป่าไม้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่ป่าไม้จะถูกทำลายให้ร่อยหรอจนเกิดวิกฤตหายนะไปทุกหย่อมหญ้า อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาด ซึ่งจากการที่ได้ทำกิจกรรมปลูกป่ามาระยะหนึ่ง จึงเชื่อว่าอนาคตป่าไม้จะถูกเผาทำลายในอัตราที่เร่งเร็วขึ้นกว่าอดีตหลายเท่า เช่นเมื่อก่อนป่าถูกเผาแปลงละหลักสิบหลักร้อยไร่ แต่ปัจจุบันกำลังตั้งใจเผาป่าแปลงละเป็นพันไร่สองพันไร่ น่าใจหายจริงๆครับ” นายณรงค์กล่าวทิ้งท้าย
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน