ภาคการศึกษาไทย-จีนร่วมจัดเสวนาออนไลน์ “APEC Energy Forum 2022” จับประเด็นปัญหาพลังงานที่กำลังรุกรานโลก 2 อดีตรัฐมนตรีพลังงานของไทยร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ชี้ทางออกพลังงานทดแทน-พลังงานสีเขียว ประธานGWMมองเป็นยุคทองของไทยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฮ่องกง ได้ร่วมกันจัดการเสวนาออนไลน์เรื่อง “APEC Energy Forum 2022 : APEC คลังสมองพลังงานอัจฉริยะ” โดยฝ่ายไทย จัดที่ห้องประชุม จันทร์ประภัสสร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกล่าวเปิดการเสวนาว่า ปัญหาพลังงานเป็นปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบันและอนาคต ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากในขณะนี้ได้ส่งผลต่อประชาชนทั่วโลกทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่พัฒนาแล้ว ทางออกของปัญหาคือการมุ่งสู่พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสีเขียว ซึ่งเป็นทิศทางของโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย
“วันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ก็หวังว่าประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ได้” นายพิชัยกล่าว
ในโอกาสเดียวกันนี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกท่านหนึ่ง ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การใช้พลังงานสีเขียวและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่า นโยบายการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในไทยประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการจัดซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องเพื่อทดลองตลาด ส่วนมาตรการทางด้านภาษีได้กำหนดไว้ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง มีการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ รวมถึงมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต
ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก ระบุยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ว่ามีการจดทะเบียนไปแล้วถึง 12,690 คัน แบ่งออกเป็น รถจักรยานยนต์ 6,647 คัน รถยนต์ 5,625 คัน รถโดยสารและรถบรรทุกอีก 292 คัน ถือเป็นความสนใจและแนวโน้มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและคาดว่าแนวโน้มข้างหน้าอาจมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการแห่จองรถยนต์ไฟฟ้า BYD เป็นจำนวนมาก ถือเป็นการตอบรับที่ดีของคนไทยและยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
“พลังงานไฟฟ้าในอนาคตที่จะมีความต้องการมากขึ้น โครงสร้างพลังงานต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด เรื่องของต้นทุนในการผลิต วิจัย พัฒนาทรัพยากรที่เกิด โดยเฉพาะแบตเตอรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ จำเป็นต้องตระหนักและมาพร้อมๆกันกับการเป็นฐานอุตสาหกรรมที่ครบวงจรและมีความพร้อม” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายจาง เจียหมิง ประธานบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง เขตอาเซียนกล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นฉันทามติของทั่วโลก อุตสาหกรรมยานยนต์จะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พลังงานใหม่อัจฉริยะจะเป็นแนวทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่ไม่ใช่เพียงวิวัฒนาการจากพลังงานเชื้อเพลิงสู่พลังงานใหม่แต่ยังเป็นการพัฒนาที่บูรณาการกับอินเตอร์เน็ต
ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ อุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงานใหม่ และอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะของประเทศไทย อยู่ในช่วงเวลาการเติบโตซึ่’เป็นยุคทองที่ไม่เพียงเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 แต่ยังสามารถส่งเสริมความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานใหม่สำหรับ การขนส่งที่กำลังเป็นที่นิยม” วิทยากรประกอบด้วย ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงาน กิจการภายนอกองค์กรและส่วนราชการสาขาประเทศไทย บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด นางสาววรรณา ลอลือเลิศ กรรมการผู้จัดการ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง33 รศ.ดร.จรัล รัตนโชตินันท์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารงานก่อสร้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และพลอากาศตรี ดร.ณัฐพัชร์ เรืองมณีญาต์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน