ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น สวนทางกับทรัพยากรของโลกที่มีจำกัด European Commission คาดว่า หากการใช้ทรัพยากรโลกยังอยู่ในระดับปัจจุบัน
ภายในปี 2573 จะต้องมีโลกถึง 2 ใบ จึงจะมีทรัพยากรเพียงพอในการสนองความต้องการใช้ของคนทั้งโลก ทำให้การหาทางลดการใช้ หรือการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วหมุนเวียนมาใช้ใหม่ตามแนวคิด Circular Economy ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
พร้อมคาดกันว่า Circular Economy จะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมและธุรกิจของโลกนับจากนี้ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ทำความรู้จัก Circular Economy
Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิด “ผลิต-ใช้-นำกลับมาใช้ใหม่” (Make-Use-Return) ต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่เน้นทำกำไรให้มากที่สุด ด้วยแนวคิด “ผลิต-ใช้-ทิ้ง” (Make-Use-Dispose) โดยละเลยถึงผลที่จะตามมา ซึ่งปัจจุบันพบว่าหลายประเทศหันมาใส่ใจและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ EU ประกาศใช้ 2018 Circular Economy Action Package โดยตั้งเป้า
ลดขยะพลาสติก ลดการฝังกลบขยะและเพิ่มการรีไซเคิล
ญี่ปุ่นปลูกฝังจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ และคิดค่ากำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมไว้กับค่าสินค้า รวมถึงหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ตั้งเป้าเป็นประเทศที่ไม่มีขยะ (Zero Waste Nation) โดยเบื้องต้นจะลดปริมาณขยะที่เข้าสู่บ่อกำจัดขยะจากวันละ 0.36 กิโลกรัมต่อคนในปี 2561 เหลือวันละ 0.25 กิโลกรัมต่อคนภายในปี 2573 และเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าจะยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2568
ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของทุกประเทศและจะมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการในทุกธุรกิจต้องปรับตัวตามไปด้วย นอกเหนือจากแรงผลักดันจากฝั่งผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
ปัจจุบันพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกหลายธุรกิจเริ่มปรับตัวตามแนวคิด Circular Economy ผ่านโมเดลธุรกิจต่าง ๆ อาทิ
1. Circular Supply Chain เป็นโมเดลธุรกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบ ด้วยการนำวัสดุรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ หรือวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และลดการเกิดของเสียจากการผลิต
ตัวอย่างเช่น MOGU บริษัทจากอิตาลีที่หันมาพัฒนาวัสดุชีวภาพสำหรับตกแต่งภายในอาคารที่พัฒนาแผ่นปูพื้นและแผ่นบุผนังจากเส้นใยพืชและกลุ่มใยรา ด้วยการเพาะเลี้ยงใยราบนต้นพืช เมื่อใยรากินเซลลูโลสในต้นพืชแล้ว จะเติบโตขึ้นและแผ่โครงสร้างทางอินทรีย์อุดช่องว่างของต้นพืช จึงทำให้เกิดวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ขึ้น
จากนั้นจึงนำไปทำให้แห้งและผ่านกระบวนการอัดด้วยความร้อนสูง จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่นในตลาด อีกทั้งมีคุณสมบัติยืดหยุ่นและดูดซับเสียงได้ดี สามารถสั่งผลิตได้ตามขนาด ลักษณะผิวสัมผัส ความหนา และสีสันที่ต้องการ จึงตอบโจทย์ความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
2. Product as a Service เป็นโมเดลธุรกิจที่เจ้าของสินค้านำสินค้ามาให้บริการกับผู้ใช้สินค้าในรูปแบบของการเช่าหรือการจ่าย
เมื่อต้องการใช้งาน (pay-for-use) โดยไม่ต้องซื้อขาด จึงช่วยลดภาระให้แก่ผู้ใช้สินค้า เนื่องจากไม่ต้องชำระเงินค่าสินค้าเต็มมูลค่า อีกทั้งยังช่วยลดภาระในการดูแลหรือบำรุงรักษาสินค้า เพราะผู้ให้บริการจะทำหน้าที่ดังกล่าวแทน
ตัวอย่างเช่น Michelin ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกที่เปิดให้ลูกค้าเช่าใช้ยางรถยนต์ ภายใต้แนวคิด “Tires as a service” โดยคิดค่าเช่ายางรถยนต์ตามระยะทางที่ลูกค้าใช้งาน และบริษัทฯ เป็นฝ่ายดูแลคุณภาพยางรถยนต์ตลอดอายุการใช้งาน
อีกทั้งเมื่อยางรถยนต์ใช้งานไม่ได้แล้วบริษัทฯ จะรวบรวมและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตยางรถยนต์ใหม่ต่อไป นอกจากโมเดล Product as a Service จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการรวบรวมสินค้าที่หมดอายุใช้งานไปจัดการต่อ เพราะเจ้าของสินค้าเป็นฝ่ายรวบรวมไปจัดการเองแล้ว
โมเดลการเช่าใช้งานยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้อัปเกรดสินค้าเป็นรุ่นใหม่ได้ โดยไม่ต้องซื้อสินค้าใหม่ทุกครั้ง ดังเช่นกรณีของ Gerrard Street บริษัทสตาร์ตอัพจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ให้บริการเช่าใช้หูฟังเป็นรายเดือน ที่ออกแบบหูฟังแบบ Modular ซึ่งสามารถถอดประกอบเองได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้กาว ทำให้การปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนทำได้สะดวก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีชิ้นส่วนใดเสียหาย หรือเมื่อมีหูฟังรุ่นใหม่ออกมา ผู้ใช้สามารถส่งชิ้นส่วนที่เสียหรือหูฟังรุ่นเก่ามาเปลี่ยนที่บริษัทได้ฟรี จึงช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากการทิ้งหูฟังรุ่นเก่าที่ยังใช้งานได้เพื่อไปซื้อรุ่นใหม่และลดปัญหาขยะจากการทิ้งหูฟังทั้งชิ้น ทั้ง ๆ ที่มีเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายเท่านั้น
3. Resource Recovery เป็นโมเดลที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือเกิดประโยชน์มากที่สุดเช่นเดียวกับCircular Supply Chain แต่ต่างกันที่ Circular Supply Chain จะให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบและพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิต(Inputs)
ในขณะที่ Resource Recovery จะเน้นจัดการของเสีย (Waste) หรือผลพลอยได้ (By Product) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตโดยจะพยายามดึงส่วนที่ยังใช้งานได้หรือพลังงานที่แฝงอยู่ในของเสียหรือผลพลอยได้ออกมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โมเดลนี้จึงเหมาะกับธุรกิจที่มีผลพลอยได้หรือของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
ตัวอย่างเช่น Kroger (ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ) รวบรวมขยะอาหารจากสาขาของบริษัทฯ ราววันละ 150 ตัน มาเข้าสู่กระบวนการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในสำนักงานและศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทฯ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 20 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ยังช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงถึงร้อยละ 95
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้นำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “BCG Model” ซึ่งเป็นการบูรณาการแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) มาใช้วางแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ และปล่อยของเสียออกสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ขณะที่ภาคเอกชนก็ตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง SCG ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว เช่น การผลิตกระดาษลูกฟูกที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่ยังคงความแข็งแรงได้เท่าเดิม และ PTTGC ที่รวบรวมขยะขวดพลาสติก PET ที่ถูกทิ้งในทะเลมาผลิตเป็นเส้นใยแล้วนำไปผลิตเสื้อ ภายใต้โครงการ Upcycling The Oceans เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คอลัมน์ ส่องเทรนด์โลก วารสาร E-NEWs ฉบับที่2 ก.พ.2563 (exin.go.th)
โดย:ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย